เครือข่ายผู้บริโภคจี้รมว.เกษตรฯสั่งเพิกถอน "สารอันตราย"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เครือข่ายเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จี้ ให้มีคำสั่ง ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายอย่างยาฆ่าหญ้าพาราควอต ยาฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส และให้จำกัดการใช้ยาฆ่าหญ้าไกลโฟเซตหลังกรมวิชาการเกษตร มีท่าทีว่าจะไม่ยกเลิกสารเหล่านี้ อ้างว่าไม่มีข้อมูลด้านสุขภาพ

เมื่อวันที่ (18 ก.ย. 60)  นายธนัษ อภินิเวศ ผู้อำนวยการบริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายยาฆ่าหญ้าพาราควอต เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นขอต่อทะเบียนใบอนุญาตนำเข้าสารพาราควอต ที่จะหมดอายุในเดือนตุลาคมนี้ กับกรมวิชาการเกษตรแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างหารือแนวทาง เนื่องจากคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงมีมติ ให้ยกเลิกใช้

ผู้อำนวยการบริษัท ซินเจนทาฯ กล่าวว่า หากรัฐบาลสั่งยกเลิกสารพาราควอตจริง เชื่อว่าจะส่งผลกระทบด้านต้นทุนต่อเกษตรกรไทยและปัจจุบันในประเทศไทย ยังไม่มีข้อมูลยืนยันด้านสุขภาพจากหน่วยงานภาครัฐอย่างเป็นทางการว่าพาราควอตมีอันตรายต่อร่างกาย

ด้านเครือข่ายผู้บริโภคกล่าวว่า มติคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560  การประชุมครั้งนั้นมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมีคนของกรมวิชาการเกษตรเข้าร่วมด้วย  เห็นชอบให้ยกเลิกใช้ยาฆ่าหญ้าพาราควอต ยาฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส และให้จำกัดการใช้ยาฆ่าหญ้าไกลโฟเซต เพราะเห็นเป็นสารอันตราย มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน แต่มาวันนี้กรมวิชาการเกษตร กลับมีท่าทีว่าจะไม่ทำตามมติที่ประชุมดังกล่าว โดยอ้างว่า ขาดความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ทำให้เครือข่ายเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯเพื่อออกคำสั่งยกเลิกสารอันตรายเหล่านี้ และจะรวมตัวกันเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศในวันพรุ่งนี้


ปัจจุบันในประเทศไทยจะไม่มีการเก็บข้อมูลโดยตรงว่าสารพาราควอตมีอันตรายต่อสุขภาพประชาชนในแง่ใดบ้าง แต่จากการลงพื้นที่สำรวจของทีมข่าวพีพีทีวี พบนัยยะสำคัญบางอย่างที่น่าสนใจ  คือ ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 600,000 ไร่  เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ยาฆ่าหญ้าพาราควอต มีผู้ป่วยเป็นโรคเนื้อเน่าเฉลี่ยปีละกว่า 100 คน เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 5 คน และมีผู้พิการจากโรคนี้ต้องตัดอวัยวะเฉพาะปีนี้ 2 คนแล้ว แม้แพทย์จะระบุว่า โรคเนื้อเน่าเกิดจากเชื้อโรค ไม่ได้เกิดจากสารพาราควอตโดยตรง แต่จากประวัติของผู้ป่วยกว่าครึ่งสัมผัสสารพาราควอตก่อนป่วย

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก จัดให้พาราควอตเป็นสารที่มีพิษปานกลาง เป็นพิษร้ายแรงต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปกติสารนี้ถูกดูดซึมได้น้อยมากทางผิวหนังที่ไม่มีแผล  แต่ถ้าผิวหนังมีรอยขีดข่วนหรือเป็นแผล พาราควอตจะซึมผ่านได้ดี จะระคายเคืองต่อผิวหนังอย่างรุนแรง ผิวหนังจะไหม้เป็นสีน้ำตาล

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ