บริษัทนำเข้าสารพาราควอต ชี้ สั่งห้ามใช้-ต้นทุนเกษตรกรพุ่ง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปัญหาสำคัญที่เป็นข้อถกเถียงกัน ว่าจะยกเลิกหรือจำกัดการใช้สารอันตรายหรือไม่ คือความชัดเจนเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพของยาฆ่าหญ้าพาราควอต ไกลโฟเสตและยาฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส ที่ล่าสุดกรมวิชาการเกษตร อ้างเหตุผลนี้ว่า ไม่มีข้อมูลเรื่องสุขภาพ และโยนเรื่องที่ให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณา

นอกจากโรคหนังเน่าที่เป็นกันมากในหมู่เกษตรกรพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ข้อมูลจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai Plan ที่อ้างว่าเก็บข้อมูลเลือดจากลุ่มตัวอย่าง พบ ทารกแรกเกิด และแม่มีสารพาราควอตอยู่ในเลือด ร้อยละ 17 ถึง 20 //ร้อยละ 8 ถึง15 ของกลุ่มตัวอย่าง เข้ารับการรักษา ได้รับอันตราย จากการใช้สารพาราควอต และยังอ้างข้อมูลวิจัยขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ว่า สารพาราควอต ทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน ปัจจุบันมี 48 ประเทศในโลกไม่อนุญาตให้ใช้สารนี้

ส่วนไกลโฟเสต ยาฆ่าหญ้าชนิดดูดซึม จากกลุ่มตัวอย่างพบว่า ร้อยละ 49-54 ทารกแรกเกิดและแม่มีสารนี้ตกค้างในสายสะดือ  เป็นสารที่อาจก่อมะเร็งและโรคไต

ขณะที่ยาฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส Thai Plan อ้างว่าร้อยละ 10 ของ ผัก ผลไม้ในประเทศไทยปนเปื้อนสารนี้ มีอันตรายต่อเด็กในครรภ์

จากข้อมูลจากรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ในประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตร ประมาณ 200 ล้านไร่ แบ่งเป็น เยอะที่สุดคือข้าวประมาณ 63 ล้านไร่ รองลงมาเป็นยางพารา ประมาณ 23 ล้านไร่ อันดับมาคือ อ้อยประมาณ10ล้านไร่  ในจำนวนพื้นที่ทำการเกษตรที่มากสัมพันธ์กับการใช้ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลง ปัจจุบัน มีการนำเข้าสารทั้ง 3 ตัวคือ คือ ยาฆ่าหญ้าพาราควอต ไกลโฟเสตและยาฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส รวมกันเฉลี่ยปีละกว่า 7 หมื่นตันไม่รวมสารชนิดอื่น  ปี 2560 นำเข้าพาราควอต กว่า 3หมื่นตัน นำเข้าไกลโฟเสต ประมาณ 35,000 ตัน ส่วน คลอร์ไพริฟอส ประมาณ 2,000 ตัน


บ.นำเข้าโต้ หลายประเทศนิยมใช้พาราควอต ข้อมูลไม่ชัดเรื่องอันตราย
บริษัทที่เป็นผู้นำเข้าสารพาราควอต รายใหญ่ในประเทศไทยอย่างบริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบถ้าหากมีการยกเลิกใช้สารพาราควอตในประเทศไทย นายธนัษ อภินิเวศ ผู้อำนวยการบริษัทซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด ระบุว่าสารชนิดนี้มีความจำเป็นต่อเกษตรกร เพราะต้นทุนถูกและใช้ได้ผลกว่าสารชนิดอื่น

โดยบริษัทอ้างว่า ตามมาตรฐานองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ ได้กำหนดให้สารพาราควอตมีความปลอดภัยในระดับกลาง เกษตรกรไทยคุ้นเคยกับการใช้สารพาราควอตมานานกว่า 50 ปีแล้ว แม้บางประเทศจะยกเลิกใช้ แต่ยังมีอีกกว่า 80 ประเทศที่ยังใช้ หากยกเลิกอาจส่งผลเสียต่อเกษตรกรในการเพิ่มต้นทุน

การพิจารณาจะยกเลิกใช้ หรือจำกัดสารเหล่านี้หรือไม่ หลังจากนี้กรมวิชาการเกษตรต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานว่า ทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต เข้าข่ายวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือเป็นสารพิษที่ตกค้างสะสมในสิ่งมีชีวิตและถ่ายทอดในห่วงโซ่อาหารหรือไม่ หากพิจารณาแล้วว่าใช่ กรมวิชาการเกษตรสามารอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัตวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ประการห้ามใช้ และจำกัดการใช้ได้ ซึ่งทั้งหมดจะต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายนนี้ ขณะที่ใบอนุญาตนำเข้าสารพาราควอต ของบริษัทซินเจนทาฯ จะหมดอายุในวันที่ 9 ตุลาคมนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ