เคลียร์ชัด! ป่วยไม่เกิน 3 วันไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เคลียร์ชัด! ป่วยไม่เกิน 3 วันไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ นายจ้างไม่มีสิทธิขอ แพทยสภาย้ำ "หมอ" อย่าเขียนนอกเรื่อง

วันนี้ (29 ก.ย. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเพจแหม่มโพธิ์ดำ โพสต์เรื่องราวใบรับรองแพทย์ที่กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งไม่พอใจต่อข้อความในใบรับรองแพทย์ ซึ่งระบุว่า ผู้ป่วยเป็นบุคคลวัย 27 ปีใช้ประกันสุขภาพด้วยเรื่องไข้สูงกลางคืน สมควรให้พักผ่อน 1 วัน แต่มีต่อท้ายว่า การกรรโชกใบรับรองแพทย์กรณีหยุดงานไม่เกิน 3 วันผิดกฎหมายแรงงาน เลว และเห็นแก่ตัว ทำให้เกิดปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลลิดรอนสิทธิคนไข้ คนไข้มีสิทธิหยุด 3 วันโดยไม่มีใบรับรองแพทย์ จนเกิดความเห็นต่างๆนานา ว่าแพทย์อาจต้องการต่อว่าบริษัทที่ให้ขอใบรับรองแพทย์ ทั้งที่หยุด 1 วัน แต่อีกความเห็นก็มองว่าแพทย์พูดจาแรง และเป็นการตำหนิผู้ป่วยหรือไม่นั้น

ล่าสุด พญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา กล่าวว่า การเขียนใบรับรองแพทย์นั้น ก่อนอื่นผู้ที่จะออกใบรับรองแพทย์ได้นั้น คือ 1.ต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพ 2.ได้เห็นคนไข้จริงหรือเป็นแพทย์เจ้าของไข้ และ 3.ต้องออกใบรับรองแพทย์ให้โดยสุจริต ยึดถือตามหลักวิชาการ ซึ่งตามหลักแล้วการออกใบรับรองแพทย์ก็จะเขียนเฉพาะอาการเจ็บป่วยและความเห็นเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของคนไข้เท่านั้น ไม่ควรเขียนเกี่ยวกับเรื่องอื่นลงไป และสำหรับการออกใบรับรองแพทย์เพื่อประกอบการใช้สิทธิวันลาป่วยนั้น โดยทั่วไปหากเป็นข้าราชการ คือป่วย 30 วันขึ้นไปจึงจะใช้ใบรับรองแพทย์ ส่วนประกันสังคม คือป่วย 3 วันขึ้นไปจึงต้องใช้ใบรับรองแพทย์ ตรงนี้ถือเป็นเกณฑ์กลาง

แต่อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแต่ละหน่วยงาน องค์กร และบริษัทมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันไป บางแห่งป่วย 1-2 วันก็ต้องใช้ใบรับรองแพทย์เพื่อประกอบการใช้สิทธิลาป่วยเพื่อรับเงินค่าจ้าง แต่ก็มีบางแห่งที่แม้ว่า ลูกจ้างจะมีหรือไม่มีใบรับรองแพทย์ก็หักเงินค่าจ้าง อย่างตนอยู่ รพ.พิจิตร ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ บุคลากรสาธารณสุขทั่วไป หรือลูกจ้าง หากป่วย 2 วันขึ้นไปก็ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ ถือเป็นกฎเกณฑ์ของหน่วยงาน เรียกได้ว่า แต่ละหน่วยงานก็มีเกณฑ์ในการใช้สิทธิลาป่วยไม่เหมือนกัน ดังนั้น ก็ต้องเคารพหลักเกณฑ์ของแต่ละหน่วยงานด้วย การออกใบรับรองแพทย์จึงเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่ต้องเขียนให้คนไข้ แต่ประเด็นสำคัญคือต้องเขียนด้วยความสุจริตและยึดถือตามหลักวิชาการ และหลักทางการแพทย์ หากเขียนโดยเป็นการซื้อใบรับรองแพทย์ ก็ถือว่าผิดจริยธรรม

ด้านนายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง ส่วนสิทธิการรับค่าจ้างขณะลาป่วยนั้นกำหนดให้ 1 ปีมีสิทธิได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วัน และกฎหมายยังกำหนดว่า หากลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ หากลูกจ้างไม่อาจแสดงได้ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ สำหรับกรณีที่แต่ละบริษัทมีการกำหนดเงื่อนไขในการใช้สิทธิลาป่วยต่างกัน เช่น ลางาน 1 หรือ 2 วันต้องใช้ใบรับรองแพทย์มาประกอบนั้น ตรงนี้ถือว่าไม่สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ต้องแสดงใบรับรองแพทย์ได้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ