เปิดใจ “ณัฐสินี” สาวไทยหนึ่งในทีม “ไลโก้” เจ้าของรางวัลโนเบล 2017


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดใจ ณัฐสินี กิจบุญชู นักฟิสิกส์สาวไทยวัย 26 ปี หนึ่งในทีมวิจัยโครงการไลโก้ หรือ เครื่องตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วง ที่เพิ่งผงาดคว้ารางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ 2017 เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย

เมื่อช่วงเย็นวันนี้ (3 ต.ค. 60) ตามเวลาประเทศไทย มีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ 2017 ปรากฎว่าผลงานที่ได้รับรางวัลคือ “ไลโก้” (LIGO) ซึ่งเป็นเครื่องตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วง หรือชื่อเต็มว่า “Laser Interferometer Gravitational-wave Observatory” ที่นำโดย 3 นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชั้นนำของโลกอย่าง Rainer Weiss ผู้ก่อตั้งโครงการไลโก้ , Barry C. Barish และ Kip S. Thorne ร่วมกับนักวิจัยอีกกว่า 1,000 คนจาก 20 ประเทศทั่วโลก โดยมีชาวไทยสองคนที่มีส่วนร่วมกับความสำเร็จของไลโก้ในครั้งนี้ด้วยคือ ดร.ธารา เฉลิมทรงศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล และสาวไทยวัย 26 ปี น.ส.ณัฐสินี กิจบุญชู

ทีมนิวมีเดียพีพีทีวี มีโอกาสได้พูดคุยกับ น.ส.ณัฐสินี กิจบุญชู หลังการประกาศผลรางวัลโนเบล เธอเปิดเผยความในใจว่ารู้สึกดีใจมากและรู้สึกว่าเธอเป็นส่วนหนึ่งของอะไรที่มันยิ่งใหญ่กว่าตัวเองมากๆ สำหรับจุดเริ่มต้นระหว่าง น.ส.ณัฐสินี กับโครงการไลโก้ เจ้าตัวบอกว่า ตนอยู่ในความร่วมมือทางการวิจัย (LIGO Scientific Collaboration) มาตั้งแต่ต้นปี 2014 ขณะที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่สี่ ที่มหาวิทยาลัยรัฐหลุยเซียน่า (Louisiana State University) หลังเรียนจบตนอยากศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงเพิ่มเติม และอยากมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วงด้วย จึงตัดสินใจสมัครเป็น Operations Specialist ที่ไลโก้ เขตแฮนฟอร์ด กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

จนกระทั่งค่ำคืนวันที่ 14 กันยายน 2015 คืนที่ไลโก้ สามารถตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วง ที่เกิดจากการชนกันของหลุมดำได้เป็นครั้งแรก ซึ่งตรงตามทฤษฎีที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์อัจฉริยะของโลกคิดค้นขึ้นเมื่อ 100 ปีก่อน ก่อนจะกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกในอีกไม่กี่เดือนถัดมา ซึ่งเป็นค่ำคืนเดียวกับที่ ณัฐสินี สาวไทยในวัย 24 ปีในตอนนั้นกำลังเฝ้าสังเกตการณ์ และเธอก็เป็นคนแรกๆที่สามารถตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงดังกล่าวได้

หลังร่วมงานกับไลโก้ เขตแฮนฟอร์ด กรุงวอชิงตัน เป็นเวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง ณัฐสินี ก็ย้ายมาทำงานร่วมกับกลุ่มไลโก้ประเทศออสเตรเลีย ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำไปใช้ในเครื่องตรวจจับไลโก้รุ่นที่สาม หรือเรียกกันว่า LIGO 3rd Generation พร้อมกับศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Australian National University

นอกจากนี้ นักฟิสิกส์สาวไทยคนนี้ ยังทิ้งท้ายถึงเยาวชนไทยว่า “ถ้าน้องๆชอบอะไรก็ให้ทำตามที่ใจชอบ อยากเรียนอะไรให้เรียน แล้วมันจะไปได้ไกล เพราะถ้าได้ทำอะไรที่ใจรัก มันจะทำได้ดี พอผลงานดีแล้วโอกาสจะมาเอง อาจจะไม่ถึงกับคว้ารางวัลโนเบลเพราะรางวัลหนึ่งได้รับเพียง 3 คน แต่เชื่อว่ามีโอกาสสูงที่จะไม่เจอกับทางตันในชีวิตการงาน ทั้งนี้อยากให้ทุกคนใช้รางวัลโนเบลครั้งนี้เป็นแรงบันดาลใจในการเรียน และไม่ว่าจะเรียนสาขาอะไร การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มความร่วมมือทางการวิจัยระดับโลกไม่ใช่แค่ฝันและมันมีโอกาสเป็นไปได้จริงๆ”


 

ผลงาน “การค้นพบคลื่นความโน้มถ่วง” คว้าโนเบลสาขาฟิสิกส์

สำหรับการประกาศรางวัลโนเบล 2017 จากกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน สาขาฟิสิกส์ผู้ที่คว้ารางวัลไปครอง ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน 3 คน คือ ไรเนอร์ ไวซ์ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) แบร์รี บาริช และคิป ธอร์น จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย หรือ CalTech จากการตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วง

โดยทั้ง 3 คน เริ่มสังเกตคลื่นความโน้มถ่วงตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2015 ก่อนที่จะประกาศการตรวจพบเป็นครั้งแรกในช่วงต้นปี 2016 จากหอสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วงที่ใช้เลเซอร์อินเตอร์เฟอโรมิเตอร์ (Laser Interferometer Gravitational-Wave Observatory) หรือเรียกไลโก้ (LIGO) ซึ่งสร้างความตื่นเต้นทั้งในแวดวงนักวิทยาศาสตร์ และแก่ประชาชนทั่วไป

ราชวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สวีเดน ในกรุงสตอกโฮล์ม แถลงว่า ผลงานชิ้นนี้เป็นการเปิดประตูสู่ความลึกลับของจักรวาล ที่ไม่เคยมีใครล่วงรู้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 คน จะได้รับเงินรางวัลร่วมกันจำนวน 9 ล้านโครเนอร์สวีเดน หรือราว 36  ล้านบาท

ทั้งนี้ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวเยอรมัน เคยทำนายเกี่ยวกับคลื่นความโน้มถ่วงบนพื้นฐานทฤษฎีสัมพันธภาพ เมื่อ 100 ปีก่อน ว่า เกิดจากการชนปะทะของหลุมดำ 2 หลุม นับเป็นการจุดประกายให้เกิดการปฏิวัติวงการดาราศาสตร์ฟิสิกส์

 

ทำความรู้จัก “รางวัลโนเบล”

รางวัลโนเบล เป็นรางวัลประจำปีระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นความตั้งใจของ “อัลเฟรด โนเบล” นักเคมีชาวสวีเดน ผู้คิดค้นระเบิดไดนาไมต์ เนื่องจากเขารู้สึกเสียใจจากการที่ระเบิดของเขาถูกนำไปใช้ในการทำลายและฆ่าผู้คน เขาจึงตั้งใจมอบ 94% ของทรัพย์สินมาให้เป็นเงินทุนในรางวัลโนเบล

สำหรับรางวัลโนเบลแบ่งออกเป็น 5 สาขา ได้แก่ เคมี การแพทย์ วรรณกรรม สันติภาพ รวมไปถึงฟิสิกส์ ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการสแกนดิเนเวีย เป็นผู้พิจารณาผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ที่โดดเด่น หรือสร้างคุณประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ตามความตั้งใจของอัลเฟรด โนเบล โดยก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1895 แต่การมอบรางวัลในสาขาฟิสิกส์ สาขาเคมี สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ สาขาวรรณกรรม และสาขาสันติภาพ เริ่มมอบรางวัลครั้งแรกในปี ค.ศ.1901

การประกาศรางวัลโรเบลจะมีขึ้นในเดือน ต.ค. ส่วนการมอบรางวัลโนเบลจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันที่ 10 ธันวาคม โดยผู้พระราชทานรางวัลคือ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรสวีเดน สำหรับผู้ได้รับรางวัลจะได้รับเหรียญรางวัลโนเบล ใบประกาศเกียรติคุณ เงินรางวัลประมาณ 10 ล้านโคร์นหรือประมาณ 44 ล้านบาท

 

Kai Staats สารคดีเรื่อง LIGO Generations
AFP

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ