ร้านสะดวกซื้อขาย "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" กดดื่มทันทีเหมาะสมหรือไม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โซเชียลมีเดียร้องเรียนการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลักษณะเครื่องกดเบียร์ ตั้งคำถามว่าการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สามารถกดได้ทันทีวางขายร้านสะดวกซื้อเหมาะสมหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านสะดวกซื้อ ย่านเยาวราช ตามการร้องเรียนจากสื่อโซเชียลมีเดียและประชาชน เนื่องจากพบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลักษณะเครื่องกดเบียร์ แม้จะไม่พบการกระทำผิด ตามมาตรา 30 (1) และตามมาตรา 32 แต่โลกออนไลน์ตั้งคำถามว่าการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สามารถกดได้ทันทีวางขายร้านสะดวกซื้อเหมาะสมหรือไม่

นายแพทย์อัษฎางค์  รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบร้านสะดวกซื้อ ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลักษณะเป็นเครื่องกด พบว่าลักษณะการขาย คือพนักงานร้านสะดวกซื้อจะเป็นผู้กดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ซื้อจะชำระเงินกับพนักงาน จึงจะได้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 30 (1) การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยใช้เครื่องขายอัตโนมัติ หากจะผิดตามมาตรา 30 (1) ต้องเป็นตู้หยอดเหรียญ และรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทันที และพบว่าร้านสะดวกซื้อได้ดำเนินการปรับแก้ไขเครื่องกดเบียร์ โดยการปิดสัญลักษณ์เครื่องหมายการค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยี่ห้อดังกล่าวแล้ว จึงไม่พบการกระทำผิด ตามมาตรา 32

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวนิวมีเดีย ตรวจสอบข้อกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พบว่ากฎหมายมีช่องโหว่ในสถานที่การวางจำหน่าย เพราะกฎหมาย ระบุสถานที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณดังต่อไปนี้ 1.วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา 2. สถานที่บริการสาธารณสุขของรัฐ สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลและร้านขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา 3.สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร 4.หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก 5.สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ 6.สถานีบริการน้ำมันเชื่อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง หรือร้านค้าในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 7.สวนสาธารณะของทางราชการที่จัดไว้เพื่อการพักผ่อนของประชาชนโดยทั่วไป 8.สถานที่อื่นที่รัฐมนตรี ประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายกำหนดว่าหากขายให้ บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์หรือบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ จะถูกลงโทษตามมาตรา 40 ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยฝ่าฝืนมาตรา 29 หรือมาตรา 30 (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

นอกจากนี้ กฎหมายในมาตรา 32 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใด ๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำใดๆเฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่ม หากมีการฝ่าฝืนจะได้รับบทลงโทษในมาตรามาตรา 42ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ