"ธนบัตรที่ระลึก" สิ่งคุณค่าพระราชารัชกาลที่ 9


โดย PPTV Online

เผยแพร่




"ธนบัตรที่ระลึก" เปรียบเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวในรัชกาลที่ 9 เพราะนอกจากจะใช้ชำระหนี้ทางกฎหมายแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้พสกนิกรชาวไทยสามารถรับรู้เรื่องราวกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้อย่างดี แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผลิตและจัดพิมพ์ “ธนบัตรไทย” ออกมารวมกว่ามี 16 แบบ โดยเฉพาะรัชกาลที่ 9 ที่เริ่มมีธนบัตรแบบ 8 ออกใช้เรื่อยไปจนถึงแบบที่ 16 ถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างหาที่สุดมิได้ ไม่ว่าจะเป็นธนบัตรหมุนเวียน หรือธนบัตรที่ระลึก เนื่องด้วยวาระโอกาสพิเศษต่าง ๆ ต่างสร้างความภาคภูมิใจและซาบซึ้งต่อพสกนิกรชาวไทย ที่ต้องการครอบครอง เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจอย่างสูงส่งของประชาชน

นอกจากนี้ ธปท.ยังมีการจัดพิมพ์เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคล รวมกว่า 22 แบบ ถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างหาที่สุดมิได้ ซึ่งวันนี้ทีมข่าว นิวมีเดีย พีพีทีวี ขอนำธนบัตรที่ระลึก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาถ่ายทอดให้ผุ้อ่านทุกท่านได้ชื่นชม ไม่ว่าจะเป็น “ธนบัตรธนาคารเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 ปีบริบูรณ์ 5 ธ.ค.30” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวที่มีภาพประธานด้านหน้า พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องแบบจอมทัพ ทรงฉลองพระองค์ครุย ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ส่วนด้านหลังพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ประทับท่ามกลางพสกนิกร

หรือ “ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี” โดยเป็นธนบัตรที่ระลึกแบบพิเศษ ชนิดราคา 500 บาท พิมพ์บนวัสดุพอลิเมอร์และผนึกฟอยล์สีทองพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ไว้มุมขวาบนของธนบัตร ซึ่งมีภาพประธานด้านหน้า พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง ส่วนภาพประธานด้านหลัง พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ขณะทรงงาน และภาพเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านต่าง ๆ

พร้อม “ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549” ชนิดราคา 60 บาท ภาพประธานด้านหน้า พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ณ พระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย และทอดเครื่องราชูปโภคบรมราชอิสริยยศ และภาพประธานด้านหลัง พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงประกอบพระราชกรณียกิจ และภาพเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก

รวมถึง “ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550” ชนิดราคา 100 บาท โดยมีภาพประธานด้านหน้าเบื้องซ้ายมีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ป็นภาพประธาน ตอนกลางของธนบัตรชนิดราคา 1 บาท มีภาพการเสด็จออกสีหบัญชร ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในปี 2493 ชนิดราคา 5 บาท มีภาพการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ในพระราชพิธีมหามงคลเนื่องในวโรกาสที่เจริญพระชนมพรรษาครบ 3 รอบพระนักษัตร ในปี 2506

และชนิดราคา 10 บาท มีภาพการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในปี 2549 เรียงตามลำดับ ส่วนภาพประธานด้านหลัง เป็นภาพลำดับเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เมื่อทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายในโครงตัวเลขไทย “9”

ขณะที่ “ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธ.ค.2554” ชนิดราคา 100 บาท ที่มีภาพประธานด้านหน้า พระบรฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพิมพ์บนลายพื้นสีเหลือบทอง เป็นภาพประธาน มีอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ในฟอยล์สีเงิน ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 พระครุฑพ่าห์ และลายไทย เป็นภาพประกอบ

สำหรับภาพประธานด้านหลัง พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการอ่างเก็บน้ำแม่เริมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นภาพประธาน และมีภาพพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำ, พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี และพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นภาพประกอบ

รวมถึง “ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิ.ย.2559” ชนิดราคา 70 บาท โดยภาพประธานด้านหน้า พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และพระสังวาลปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ ส่วนภาพประธานด้านหลัง พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระแสงขรรค์ชัยศรี

และล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ก.ย.60 ที่ผ่านมา ธปท.จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกชุดพิเศษ “ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แห่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมพระเกียรติ ร.9 โดยธนบัตรที่ระลึกทั้งชุด 5 ใบ ทุกชนิดราคาเป็นธนบัตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ชนิดราคา 20 บาท ชนิดราคา 50 บาท ชนิดราคา 100 บาท ชนิดราคา 500 บาท และชนิดราคา 1,000 บาท เพื่อให้ประชาชนทุกคนที่มีความต้องการสะสมธนบัตรที่ระลึกรับการจ่ายแลกได้อย่างทั่วถึง

“ธนบัตรที่ระลึกรัชกาลที่ 9” เปรียบสิ่งคุณค่าเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่เชื่อว่าอย่างน้อยประชาชนชาวไทย รับรู้ถึงเรื่องราวของพระมหาราชา เพื่อเป็นหนึ่งที่ช่วยยึดเหนี่ยวจิใจและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตราบนานเท่านาน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ