ก.แรงงานชี้ข้อเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ 712 บาท “เรียกได้ แต่ไม่มีคนจ้าง”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กระทรวงแรงงาน ยืนยันจะพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเป็นธรรม พร้อมระบุข้อเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 712 บาท เรียกร้องได้ แต่คงไม่มีคนจ้าง

เมื่อวันที่ (10 ต.ค. 60) นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กำชับให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในคณะกรรมการค่าจ้าง ให้พิจารณาปรับอัตราค่าจ้างด้วยความรอบคอบ เป็นธรรม และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยมีแนวคิดว่า ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเครื่องมือในการปกป้องแรงงานแรกเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อไม่ให้ถูกปฏิบัติจากนายจ้างอย่างไม่ถูกต้อง หรือจ่ายค่าจ้างที่ต่ำไปจากมาตรฐาน ประกอบกับคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งมีตัวแทนของฝ่ายลูกจ้างนั่งอยู่ด้วย จึงสามารถชี้แจงความต้องการของฝ่ายลูกจ้างได้ทุกประเด็น เพื่อให้คณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลเหตุผล โดยที่กระทรวงจะไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงหรือชี้นำได้

นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่า  การเรียกร้องค่าจ้างแรงขั้นต่ำวันละ 712 บาท ของนายสาวิทย์ แก้วหวาน ผู้นำคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หากมองในมุมกลับของผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการผลิต การลงทุน และภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ในภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นตัว อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศสนใจที่จะมาลงทุนเพิ่มมากยิ่งขึ้น การปรับค่าจ้างจะมีคณะกรรมการค่าจ้างเป็นคณะกรรมการไตรภาคี มีผู้แทนทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และราชการ ฝ่ายละ 5 คน และยังมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ที่จะให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการ เพื่อประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้างอย่างเหมาะสม การที่ออกมาเรียกร้องค่าจ้างถึง 712 บาท จะทำให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนคิดอย่างไร และผลดีหรือผลเสียเกิดขึ้นกับใคร เรื่องนี้เรียกได้แต่ไม่มีคนจ้าง ก็เหมือนกับการตั้งราคาขายสินค้าไว้สูง แต่ไม่มีคนซื้อ จึงถือว่าเป็นการเรียกร้องที่ไม่มีประโยชน์

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้เร่งพัฒนาฝีมือแรงงานไทย เพื่อรองรับการผลิตที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งจะทำให้ได้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ที่จะสูงกว่าค่าจ้าง ขั้นต่ำ ขณะนี้ได้รับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานไปแล้วกว่า 68 สาขาอาชีพ ได้ค่าจ้างสูงสุดถึง 815 บาทต่อวัน และภายในปี 2561 จะให้การรับรองเพิ่มอีกกว่า 16 สาขาอาชีพ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ