ฝนตก น้ำท่วม รถจมน้ำ ทำอย่างไร ?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันนี้ (14 ต.ค.60) หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ประสบเหตุการณ์น้ำท่วมขังในถนนหลายสาย รถยนต์เสียหายเป็นจำนวนมาก แล้วมีวิธีการอย่างไรในการตรวจเช็คสภาพและเคลมประกัน ไปอ่านกัน

ในกรณีที่จอดรถไว้ แล้วรถจมน้ำในระดับสูงท่วมเครื่องยนต์ ให้ปฏิบัติ ดังนี้

-ห้ามสตาร์ทรถ หรือบิดกุญแจไปตำแหน่ง ON เด็ดขาด ! เพราะรถยนต์มีอุปกรณ์อีเลคทรอนิค ระบบไฟฟ้า ที่ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ จะทำให้ช็อตเสียหายได้ ทางที่ดีที่สุด คือ ควรถอดขั้วแบตเตอรี่ออก ทันทีเพื่อตัดระบบจ่ายไฟ

-นำรถเข้าอู่หรือศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายของเหลวทั้งหมด เช่น น้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรค น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ น้ำมันเฟืองท้าย น้ำหล่อเย็น เป็นต้น

-ส่วนช่วงล่างหรือระบบรองรับ ควรให้ช่างอัดจาระบีที่ลูกหมากใหม่ ตรวจเช็กระบบเบรคว่าผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะรถระบบเบรคแบบดุม น้ำอาจเข้าได้ ต้องถอดออกมาทำความสะอาด

 สำหรับวิธี 'เคลม' ประกันภัยรถยนต์กรณีถูกน้ำท่วม

1. ถ่ายรูปรถในขณะถูกน้ำท่วม (ถ่ายให้เห็นทะเบียนรถ เพื่อเป็นหลักฐานว่ารถคันเดียวกับที่เอาประกันไว้)

2. ตรวจสอบความเสียหายในรถ และถ่ายรูปไว้ พร้อมบันทึกความเสียหายวันเวลาสถานที่ที่เกิดน้ำท่วมขึ้น

3. ตรวจสอบกรมธรรม์ และอ่านทำความเข้าใจเงื่อนไขให้ละเอียด (อาจปรึกษากับตัวแทนประกันของท่าน)

4. แจ้งทำเคลมทางโทรศัพท์กับบริษัทประกันภัย (จดบันทึก ชื่อผู้รับแจ้ง วันที่ เวลา และเลขรับแจ้งไว้)

5. นัดหมายการตรวจสภาพความเสียหายของรถยนต์กับเจ้าหน้าที่บริษัทประกันภัย เพื่อเตรียมซ่อม

6. กรณีรถวิ่งไม่ได้ต้องขอให้ทางบริษัทส่งรถยกมาลากไป (บริษัทรับผิดชอบค่ายรถยกลากไม่เกิน 20 % ของค่าซ่อม)

7. เมื่อนำรถเข้าอู่ซ่อมแล้ว เก็บใบรับรถไว้ ดูนัดหมายการซ่อมกี่วัน จำเป็นต้องขยันไปตรวจสภาพเป็นระยะ ถ้าบริษัทประวิงการจัดซ่อม หรืออู่ซ่อมล่าช้าเกินกำหนด โดยไม่มีเหตุผลอันควร ท่านสามารถเรียกร้องค่าขาดการใช้รถได้

ประกันไม่คุ้มครอง อะไรบ้าง ?

1. กรมธรรม์ไม่คุ้มครอง ถ้ายังไม่ได้ชำระเบี้ยประกันภัย (Cash Before Cover)

2. ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบเอง 1,000 บาทแรก (ความเสียหายที่ไม่ได้เกิดจากการชน)

3. อุปกรณ์ส่วนควบ เครื่องเสียง ตกแต่ง จะเคลมได้ต่อเมื่อแจ้งซื้อคุ้มครองไว้ตั้งแต่วันเริ่มทำประกันเท่านั้น (ส่วนการที่มาติดตั้งเพิ่มเติมภายหลัง และไม่ได้แจ้งประกันไว้ เช่น ติดตั้งแก๊สซีเอนจี/แอลพีจี ภายหลัง ประกันจะไม่คุ้มครองในส่วนนี้)

4. กรณีจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงให้เกิดความเสียหาย เช่น นำรถไปวิ่งลุยน้ำ ทั้งๆ ที่มีการประกาศจากทางราชการ ห้ามนำรถเข้าในถนนนั้นๆ กรณีนี้บริษัทประกันภัยอาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ โดยเฉพาะการหยุดการทำงานของเครื่องจักรกลไกของรถยนต์ การแตกหักของเครื่องจักรกลไก ระบบเครื่องไฟฟ้าของรถยนต์ ระบบสมองกลทั้งหมด

5. เจ้าของรถไม่สามารถเรียกร้องค่าเสื่อมราคา ค่าสึกหรอของรถยนต์ รวมถึง ค่าน้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรค น้ำมันเกียร์ น้ำมันทุกชนิดที่ต้องเปลี่ยนถ่าย (ค่าแบทเตอรีจ่ายให้เพียงครึ่งเดียว และค่ายางรถยนต์แตกฉีกขาดจากการชนจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง)

6. ท่านต้องดูแลรักษาสิทธิของท่านเอง หากไม่ได้รับความเป็นธรรมแจ้ง โทร. 1186 สายด่วนประกันภัย

ทั้งนี้ ค่าเสียหายขึ้นอยู่กับว่าเป็นรถอะไร น้ำท่วมระดับไหน หากเป็นระดับ พรมปูพื้นยังไม่ถึงเบาะ ถ้าเป็นรถเก๋ง ค่าใช้จ่ายในการรื้อพรมตาก ประมาณ 8,000-15,000 บาท แต่หากน้ำท่วมถึงเบาะ ค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000-30,000 บาท และหากน้ำท่วมถึงคอนโซลรถ ค่าซ่อมก็ประมาณ 50,000 บาท

สำหรับข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นเฉพาะการเคลมประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ในส่วนความเสียหายของตัวรถที่ทำประกันอันเกิดจากภัยน้ำท่วมเท่านั้น ยังมีความคุ้มครองอื่นที่กรมธรรม์ทุกประเภทให้ความคุ้มครองอยู่ ซึ่งหลายคนอาจยังไม่ทราบ เช่น รถทุกคันที่ทำประกันไว้นำไปวิ่งในท้องถนนขณะมีน้ำท่วมขัง และคลื่นของน้ำที่เกิดขึ้นจากรถที่วิ่งไปกระแทกให้คนเดินถนนล้มบาดเจ็บ หรือ ทรัพย์สิน กำแพงบ้าน ผนังกั้นน้ำเข้าบ้าน พังเสียหาย เช่นนี้ สามารถเคลมประกันภัยได้แม้ว่ากรมธรรม์นั้นไม่ใช่ประเภท 1 ก็ตาม เพราะถือว่าอยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองบุคคลภายนอก กรมธรรม์ทุกฉบับต้องคุ้มครองอยู่แล้ว

สำหรับกรมธรรม์อื่นๆ ที่ให้ความคุ้มครองในส่วนรถหายรวมอยู่ด้วย เช่น ประเภท 2 พลัส หรือ 3 พลัส หากในกรมธรรม์ระบุข้อความว่าคุ้มครองรถยนต์สูญหาย หากรถที่นำไปจอดหนีภัยน้ำท่วมในที่สูง เช่น ถนน สะพาน ทางด่วน หรืออาคารต่างๆ หากถูกขโมยสูญหายไป ก็สามารถเคลมประกันภัยได้เช่นกัน แต่ถ้าถูกเฉี่ยวชนต้องมีคู่กรณีอยู่ ณ เวลาที่แจ้งเคลมประกันด้วย

 ถ้ารถไม่มีประกัน DIY เราสามารถตรวจเชคเองได้ หลังขับลุยน้ำท่วม กรณีรถไม่จมน้ำ ดังนี้ 

1. หลังจากลุยน้ำ ให้เหยียบเบรคซ้ำๆ เพื่อรีดน้ำออกจากจานเบรค

2. ฉีดน้ำล้างช่วงล่างให้ทั่ว ใช้แปรงขนอ่อนขัดเอาเศษโคลน ขยะ หรือเศษกิ่งไม้ออก

3. เปิดฝากระโปรงรถขึ้น เพื่อสำรวจความเสียหายจากน้ำท่วม และเป่าลมเพื่อไล่น้ำออก

4. ตรวจดูน้ำมันเครื่อง ว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ เพราะน้ำอาจเข้าไปผสมได้

5. ตรวจของเหลวทั้งหมด เช่น น้ำมันเกียร์ น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ ว่ามีน้ำผสมอยู่หรือไม่

6. ถ้าน้ำท่วมถึงกล่องฟิวส์ ให้ถอดฟิวส์ออกมาเช็ด และเป่าให้แห้ง

7. เป่าลมไล่น้ำตามขั้วสายไฟ และแบตเตอรี่

8. ฉีดสเปรย์ไล่ความชื้น ที่ขั้วแบตเตอรี่

9. ฉีดสเปรย์ไล่ความชื้น ตามขั้วสายไฟต่างๆ

10. เปิดยางที่วางเท้าออกมา หากเปียกชื้น ให้ทำความสะอาด และผึ่งแดดให้แห้ง

(ขั้นตอนที่ 4-5 หากมีน้ำผสมอยู่ ควรไปเปลี่ยนที่ศูนย์บริการทันที)

 

ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ มอเตอร์ เอกซ์โปร์ 2017

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ