พบ "ปลาหมอสีคางดำ" อยู่ในน้ำทะเลได้ หวั่นกระทบประมงพื้นบ้าน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปลาหมอสีคางดำ ที่กำลังแพร่กระจายในจังหวัดสมุทรสงคราม ล่าสุดขยายวงกว้างไปถึงบางอำเภอของเพชรบุรีแล้ว และมีข้อมูลที่น่าวิตก คือมันอึดทน สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำทะเลได้ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจกระทบกับประมงพื้นบ้าน

น้ำจากคลองธรรมชาติ จะไหลเข้าบ่อกุ้งของชาวบ้าน ควบคุมผ่านประตูระบายน้ำที่สร้างขึ้นมาเฉพาะ วิธีนี้ชาวบ้านเรียกว่าเป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ แต่เพื่อป้องกันสัตว์ชนิดอื่นเข้ามากินลูกกุ้งในบ่อ จึงต้องใช้ตาข่ายดักไว้ แต่วิธีนี้ใช้ไม่ได้กับปลาหมอสีคางดำ ที่กำลังแพร่กระจายในสมุทรสงครามและเพชรบุรี

บ่อกุ้งเนื้อที่ 100 ไร่ ของนายธนากร เอี่ยมสวัสดิ์ ชาวตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายปลาหมอสีคางดำ เขาเล่าว่า เคยได้กำไร 100,000 บาทต่อเดือน จากการขายปูและกุ้งในบ่อ แต่เมื่อปลาชนิดนี้เข้ามาสร้างปัญหา โอกาสที่จะได้กำไรเช่นเดิม แทบไม่มี ซ้ำยังต้องแบกรับภาระค่ากำจัดมากกว่า 10,000 บาทต่อครั้ง

เพราะถิ่นกำเนิดของพวกมัน อยู่ที่ประเทศแถบแอฟริกา ทำให้ปลาชนิดนี้ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ทุรกันดาน และเมื่อมาอยู่ในไทย ที่มีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ การขยายพันธ์ ก็ยิ่งทวีคูณ เป็นเรื่องที่น่าวิตก เมื่อชาวประมงพื้นบ้านเคยจับปลาชนิดนี้บริเวณชายฝั่งทะเลได้ ข้อมูลนี้สอดคล้องกับนักวิชาการอิสระ ที่บอกว่า พวกมันสามารถใช้ชีวิตได้ในน้ำเค็มและน่ากังวล หากการแพร่กระจายขยายวงกว้างไปถึงทะเล อาจส่งผลให้ปลาพื้นบ้านลดลง

ทั้งนี้ปลาหมอสีคางดำที่พบในเพชรบุรี ไม่ต่างกับที่พบใจที่สมุทรสงคราม และหากดูจากจุดที่เริ่มแพร่กระจายในช่วงแรก เมื่อปี2557 ในคลองขุดดอนจั่น และคลองบำรุงสิทธิ์ ซึ่งอยู่ใกล้กับศูนย์วิจัยของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่พบข้อมูลจากกรมประมงว่าเป็นผู้นำเข้าปลาชนิดนี้เพียงรายเดียว เส้นทางน้ำจากจุดแรกที่เชื่อมกัน ก็เป็นไปได้ที่ปลาที่พบที่เพชรบุรีอาจแพร่ระบาดมาจากจุดเดียวกัน

พฤกษา สุนทรกุล ถ่ายภาพ
อัฟนัน อับดุลเลาะ รายงาน

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ