ไทยเสี่ยงครองแชมป์โลก ผู้เสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทย นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จากสถิติรายงานของ ภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนน พบว่า มีผู้เสียชีวิตมากขึ้นกว่าทุกปี ทำให้สถานการณ์อยู่ในช่วงวิกฤต หากภาครัฐยังไม่มีมาตรการป้องกันและเร่งดำเนินการแก้ไขในเรื่องดังกล่าว อาจทำให้ประเทศไทยเป็นเจ้าสถิติที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุดในโลก

ภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เปิดผลรายงานความปลอดภัยทางถนน ปี 2559 พบว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนจำนวน 22,356 ราย ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2558 เพิ่มมากขึ้น 2,877 ราย ซึ่งจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ ระยอง คิดเป็นร้อยละ 72.2 โดยแบ่งเป็นผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 45 เปอร์เซ็นต์ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 29 เปอร์เซ็นต์  คนเดินเท้า 5 เปอร์เซ็นต์ และคนขี่จักรยาน 1 เปอร์เซ็นต์

หน่วยงานรัฐต้องจริงจังในการบังคับใช้กฎหมาย

นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลก และโรงพยาบาลขอนแก่น เปิดเผยว่า หน่วยงานภาครัฐจะต้องตระหนักว่า ปัญหาอุบัติภัยบนท้องถนนของประเทศไทย กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต ทุกหน่วยงานจะต้องจริงจังในการดำเนินงานมากกว่านี้ ในเรื่องการบังคับใช้กฏหมาย นอกจากนี้ควรมีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดหาอุปกรณ์สนับสนุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยกระดับความเข้มแข็งของหน่วยงานหรือสถาบันที่ทำหน้าที่ประสานดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และติดตามการดำเนินงานของทุกหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ปัจจุบันสถานการณ์ด้านอุบัติเหตุทางท้องถนน ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประเทศไทยยังติดอันดับเกิดอุบัติเหตุเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศลิเบีย แต่ถ้าดูอัตราการเสียชีวิต ของเฉพาะจังหวัดระยองที่มีอัตราเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 72.2 อาจทำให้สถานการณ์อุบัติเหตุของไทยกลายเป็นอันดับ 1 ซึ่งถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤต ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรตื่นตัวและเร่งดำเนินการแก้ไข เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและการเกิดอุบัติเหตุ

เสาหลัก 5 ประการ ลดความเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน

ด้านนายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัย ระบุว่า ควรจะต้องมีระบบบริหารการจัดการที่ดี ซึ่งมีเสาหลัก 5 ประการ ประกอบด้วย ด้านการจัดการ ต้องหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุซ้ำๆ มีการจัดทำแผนงานและมาตรการป้องกันในความเสี่ยง ลำดับต่อมา ด้านถนน จะต้องมีระบบตรวจสอบความปลอดภัยทางถนน ตั้งแต่การออกแบบ , การก่อสร้าง และการบำรุงรักษาดูแล พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ เพื่อลดความเสี่ยง เช่น ราวเหล็กลูกฟูก , สร้างถนนวงเวียน ลำดับต่อมา ด้านยานพาหนะ ต้องเพิ่มความสำคัญของมาตรฐานป้องกันการชน เช่น ควรออกฎหมายให้ รถมอเตอร์ไซค์ทุกคัน ติดตั้งระบบ ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) ส่วนรถยนต์ติดตั้งระบบ ระบบควบคุมเสถียรภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ESC) และเมื่อเกิดการชนจะต้องมี ระบบความปลอดภัยเชิงปกป้องเมื่อเกิดเหตุ (Passive Safety) นอกจากนี้ควรติดตั้งที่นั่งติดรถยนต์สำหรับเด็ก (Car Seat) ลำดับถัดมา ด้านผู้ใช้รถใช้ถนน จะต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ มีระบบใบอนุญาตที่ขับขี่ที่มีคุณภาพ และบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะความเสี่ยงหลัก ในเรื่องของ ความเร็วรถยนต์ , เมาสุรา และอุปกรณ์นิรภัย

อย่างไรก็ตาม ข้อพิจารณาสำคัญ คือ อย่ารอให้เกิดเหตุการณ์ก่อน แต่ควรจะต้องลงทุนแก้ไขตั้งแต่ต้นเหตุ โดยการสร้างถนนให้ดี ควบคุมพฤติกรรมผู้ใช้รถ และออกแบบยานพาหนะให้ปลอดภัย ทั้งนี้ประเทศไทยยังบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มแข็งพอ เพราะยังมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจำนวนมาก เนื่องจากประชาชนมีความเคยชินกับการกระทำผิดกฎหมาย เช่น ขับขี่รถย้อนศร ดังนั้นต้องมีกลไกทางสังคมและกฎหมายเข้ามาจัดการกับเรื่องดังกล่าวนี้นอกจากนี้ต้องปลูกฝังความรู้การใช้รถบนท้องถนนให้กับเด็กรุ่นใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว และให้ความสำคัญกับระบบจัดการ โดยการจัดเก็บข้อมูลเหตุการณ์ต่างๆ และนำข้อมูลมาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ