เปิดกฎหมายร่างผู้ตายเป็นสิทธิ์ของใคร ?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ไขข้อสงสัยกับคำถามที่ว่า หากมีผู้เสียชีวิตในที่ทำงาน หรือ สถาบันการศึกษา ใครคือผู้มีสิทธิ์ในการดำเนินการกับร่างของผู้เสียชีวิต

วันนี้ (22 พ.ย.60) นายวิรัช หวังปิติพาณิชย์ ทนายความอิสระ ให้ข้อมูลถึงกรณีลูกจ้าง หรือนักเรียน เสียชีวิตระหว่างเรียน หรือทำงาน นายจ้าง หรือสถาบัน มีสิทธิ์ดำเนินการอย่างไรบ้าง ว่า เบื้องต้นหากมีผู้เสียชีวิต บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องติดต่อทายาทเพื่อแจ้งให้มารับศพ ซึ่งการกำหนดลำดับทายาทเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629  ซึ่งระบุว่า ทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

1. ผู้สืบสันดาน 2. บิดามารดา 3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน 5. ปู่ ย่า ตา ยาย 6. ลุง ป้า น้า อา ส่วนคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635 และตามมาตรา 1649 คนที่มีอำนาจจัดการมรดกคือผู้ที่มีสิทธิ์จัดการศพ

นายวิรัช กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ผู้เสียชีวิตทำเรื่องบริจาคร่างกายให้กับโรงพยาบาล หากเสียชีวิตที่โรงพยาบาลที่บริจาคร่างกายไว้ โรงพยาบาลจะต้องแจ้งต่อทายาทก่อนจึงจะดำเนินการได้ แต่ถ้าหากผู้ตายเสียชีวิตที่โรงพยาบาลซึ่งไม่ได้บริจาคร่างกายไว้ ทางโรงพยาบาลดังกล่าวจะต้องแจ้งให้ทายาทและโรงพยาบาลที่ผู้เสียชีวิตบริจาคร่างกายรับทราบ

นอกจากนี้ นายวิรัช ยกตัวอย่างกรณีการแย่งศพของผู้เสียชีวิต ว่า ก่อนหน้านี้เคยเกิดประเด็นแย่งศพระหว่างโรงพยาบาลที่ผู้เสียชีวิตบริจาคร่างกาย กับ ทายาทผู้เสียชีวิต เนื่องจากทายาทของผู้เสียชีวิตไม่รู้ว่าได้มีการบริจาคร่างกาย ทำให้เกิดการฟ้องร้องกัน จนที่สุดแล้วศาลฎีกาตัดสินให้โรงพยาบาลชนะเนื่องจากมีเอกสารบริจาคร่างกายและถือว่าเป็นไปตามพินัยกรรม

ส่วนอีกกรณีคือ พระเสียชีวิตที่วัด ซึ่งทายาทอยากเป็นผู้จัดการศพ เช่นเดียวกับวัดที่อยากเป็นผู้จัดการศพ ในขณะที่พระไม่ได้ทำพินัยกรรม และมีการฟ้องร้องกัน ที่สุดแล้วศาลฎีกาตัดสินให้ทายาทเป็นผู้ชนะได้จัดการศพ เนื่องจากไม่มีพินัยกรรม และเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629

นายวิรัช ระบุว่า หากไม่มีการทำพินัยกรรม ตามกฎหมายระบุไว้ว่าบุคคลใดได้มรดกมากที่สุดบุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้จัดการศพ และถ้าไม่มีญาติ พี่น้อง จะมีบุคคลอื่นๆ เช่น มูลนิธิฯ เป็นผู้ดูแลต่อไป หากไม่สามารถติดต่อญาติได้จริงๆ และเป็นบุคคลไร้ญาติ

แนะนำ!! ทำพินัยกรรมสร้างความชัดเจน

นายวิรัช กล่าวแนะนำว่าเพื่อไม่ให้เกิดข้อถกเถียงว่าร่างของบุคคลที่เสียชีวิตลงนั้นจะเป็นสิทธิ์ของใคร สามารถแก้ไขด้วยการเขียนพินัยกรรรม โดยต้องระบุทั้งผู้รับมรดก ผู้จัดการศพ การบริจาคร่างกาย โดยวิธีการทำพินัยกรรมทำได้ 3 วิธี คือ

1.ทำพินัยกรรมที่อำเภอ เรียกว่า “พินัยกรรมแบบฝ่ายเมือง” ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ทำให้ มีค่าธรรมเนียมในการทำแต่ไม่แพง

2.เขียนขึ้นเอง ซึ่งตามกฎหมายเรียกว่า “เขียนเองทั้งฉบับ” ไม่ต้องมีพยาน คล้ายๆ ที่เห็นกันในละคร

3.มอบหมายให้ทนายดำเนินการ เช่น พูดคุยกับทนายแล้วให้ทนายพิมพ์เอกสารตามที่เจ้าของพินัยกรรมต้องการ โดยมีพยาน 2 คนเซ็นชื่อรับรอง

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ