นักวิชาการ แนะวิธีรับมือเมื่อตกเป็นเหยื่อ Cyberbullying


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิชาการ ชี้ ปัจจุบันมีผู้ตกเป็นเหยื่อ Cyberbullying เพิ่มขึ้น แนะวิธีการรับมือ ต้องใช้การนิ่ง สงบ และการตระหนักรู้ พร้อมทั้งหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยความรู้และเหตุผล

วันนี้ (25 พ.ย.60) ดร.มฤษฏ์ แก้วจินดา ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนา “Cyberbullying ฆ่ากันตายด้วยปลายนิ้ว” ว่า Cyberbullying มาพร้อมกับเทคโนโลยีเมื่อ 15-20 ปีมาแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาสังคมไม่ค่อยให้ความสำคัญ เพิ่งจะมาให้ความสำคัญในยุคนี้ ขณะที่กลุ่มซึ่งให้ความสำคัญก็ยังมีน้อย จากข้อมูลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อปี 2559 พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70 เคยถูกรังแกผ่านโลกไซเบอร์ด้วยรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การถูกนินทา ด่าทอ และล้อเลียนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งปัญหา Cyberbullying เป็นปัญหาที่ใหญ่มากและเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับ Cyberbullying แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ผู้เห็นเหตุการณ์ 2. เหยื่อ และ3. ผู้กระทำ

ดร.มฤษฏ์ กล่าวต่อว่า สำหรับบางเหตุการณ์บางคนอาจเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทั้ง 3 กลุ่ม ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ “เหยื่อ” โดยเฉพาะกับบุคคลสาธารณะ เช่น ดารา นักแสดง และนักร้อง เป็นต้น กลุ่มนี้ถือว่าเป็นเป้านิ่ง ส่วน “กลุ่มผู้กระทำและผู้เห็นเหตุการณ์” แบ่งเป็นคนใกล้ตัวและผู้ที่ตั้งใจแกล้ง ซึ่งคนใกล้ตัวเป็นกลุ่มคนที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการทำร้ายบนโลกออนไลน์โดยไม่รู้ตัว เพราะบางครั้งไม่คิดว่าสิ่งที่กระทำนั้นเป็น Cyberbullying คิดเพียงเป็นเรื่องสนุกของผู้กระทำ และไม่คำนึงถึงจิตใจของเหยื่อ ซึ่งเหยื่ออาจรู้สึกน้อยใจ มีความรู้สึกเจ็บปวด มองโลกในแง่ร้าย และคิดว่าไม่สามารถไว้ใจใครได้อีก หากเข้าขั้นอาการดังกล่าวต้องได้รับการเยียวยา

สำหรับวิธีการรับมือหากตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying ดร.มฤษฏ์ แนะนำว่า ต้องใช้การนิ่ง สงบ และการตระหนักรู้ ในการรับมือ และหาวิธีแก้ไขวิกฤติหรือปัญหานั้นๆ ด้วยความรู้และเหตุผล เนื่องจากเวลาที่เหยื่อได้รับรู้ข้อมูลในทางลบหรือข้อมูลเท็จ สมองส่วนอารมณ์จะทำงานทันที จึงไม่เป็นการดีที่จะใช้อารมณ์ในการโต้ตอบ พร้อมทั้งต้องให้กำลังใจตนเองเพื่อก้าวผ่านไปให้ได้

ด้าน “ธันชพันธ์ บูรณาชีวาวิไล” หรือ ดีเจบุ๊คโกะ เล่าถึงประสบการณ์ในการแก้ปัญหาเมื่อตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying ว่า ตนเองจะใช้การนิ่งและสงบ เพื่อแก้ปัญหา เนื่องจากการจัดรายการวิทยุก็มีบ้างที่ถูกตำหนิเพราะแต่ละคนมีมุมมองที่หลากหลายและแตกต่างกัน และที่สุดแล้วก็ตกเป็นเหยื่อ ดังนั้นนอกจากใช้การนิ่งและสงบแล้ว เราก็ต้องรับฟังคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ส่วน “นนทพร ธีระวัฒนสุข” หรือหญิงแย้ นักแสดงและเน็ตไอดอลชื่อดัง บอกว่า เวลาที่ตนเองตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying จะมีวิธีจัดการของตนเองคือการร้องไห้แต่ไม่โต้ตอบ ซึ่งการร้องไห้เป็นกลไกของตนเอง ส่วนตัวเมื่อรู้ว่าผิดก็จะออกมาขอโทษ เช่น กรณีโพสต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ขณะที่ “จิรายุ ละอองมณี” หรือน้องเก้า นักแสดงและนักร้องชื่อดัง ร่วมแชร์ประสบการณ์และมองว่า เพศชายเป็นเพศที่มีการกลั่นแกล้งกันเพื่อความสนุกสนานมากกว่าเพศหญิง ด้วยความคึกคะนองและไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา ดังนั้น เวลาจะทำหรือพิมพ์อะไรควรคิดถึงจิตใจของคนอื่นเสมอเพื่อให้ตนเองเป็นผู้ที่ทำให้เกิด Cyberbullying

สำหรับงานสัมมนา “Cyberbullying ฆ่ากันตายด้วยปลายนิ้ว” จัดโดยนักศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม มีวิทยากรที่ร่วมสัมมนา ได้แก่ ดร.มฤษฏ์ แก้วจินดา ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “ธันชพันธ์ บูรณาชีวาวิไล” (ดีเจบุ๊คโกะ) ดีเจ พิธีกรและนักแสดงชื่อดัง จากค่ายเอไทม์ “นนทพร ธีระวัฒนสุข” (หญิงแย้) นักแสดงและเน็ตไอดอลชื่อดัง และ “จิรายุ ละอองมณี” (เก้า) นักแสดงและนักร้องชื่อดัง ดำเนินรายการโดยคุณกรสุมา เจียมสระน้อย ผู้ประกาศข่าวจากช่อง PPTV HD 36 โดยมีดร.ธนชาติ จันทร์เวโรจน์ ผู้อำนวยการหลักสูตร และผศ.ดร.กาญจนา มีศิลปะวิกกัย อาจารย์ประจำหลักสูตร ร่วมเป็นประธานในพิธีการเปิดงานสัมมนา

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ