เตรียมเตะฝุ่น! “เอไอ” จ่อแย่ง 10 อาชีพ ทำแรงงานไทยตกงานร้อยละ 44


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ อาจทำให้คนไทยถึง 44 เปอร์เซ็นต์ ต้องตกงานในอีก 20 ปีข้างหน้า ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผย เดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้ว่างงานรวม 481,000 คน และส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เรียนจบในระดับอุดมศึกษา

วันนี้ (30 พ.ย.60) นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยว่า สศค.ได้รวบรวมข้อมูลและศึกษาผลกระทบจากการ นำปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ มาใช้ในอนาคต โดยพบว่าเอไอจะส่งผล กระทบต่อประเทศไทยและกลุ่มอาเซียนอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานทักษะต่ำในอาเซียนที่คาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้ามีความเสี่ยงที่จะตกงานมากถึง 140 ล้านคน ขณะที่แรงงานไทยสัดส่วน 44 เปอร์เซ็นต์ ของกำลังแรงงานรวมมีความเสี่ยงสูงที่จะตกงาน โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เพราะจะถูกเอไอเข้ามาแทนที่

นอกจากนี้ ยังได้ประเมิน 10 อาชีพที่จะถูกเทคโนโลยีเอไอเข้ามาแย่งอาชีพ ประกอบด้วย อาชีพ นักพัฒนาเว็บไซต์ , นักการตลาดออนไลน์ , ผู้ดูแลออฟฟิศ , นักบัญชี , ฝ่ายทรัพยากรบุคคล , นักข่าว , บรรณาธิการ , นักกฎหมาย , แพทย์ และ จิตแพทย์ สำหรับการศึกษาผลกระทบครั้งนี้ สศค.ได้รวบรวมข้อมูลมาจากบริษัท เอคเซนเชอร์ ที่ปรึกษาด้านไอทีของกลุ่มแอปเปิ้ล และองค์การแรงงานระหว่างประเทศของสหประชาชาติ

ขณะที่ นิยามของเอไอ คือ เป็นความรู้ความฉลาดที่สร้างขึ้นมาจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต มีการรวบรวมและจัดใส่ข้อมูลซอฟต์แวร์หลากหลายระบบ เพื่อพัฒนาให้สามารถคิดและทำงานในด้านต่างๆ ได้คล้ายมนุษย์ ทั้งการตัดสินใจ การแก้ปัญหา และการเรียนรู้ มีการคาดการณ์ว่าเอไอจะช่วยให้เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวได้ 1.7 เท่าในปี 2578 ช่วยประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานโลกได้ 30 - 40 เปอร์เซ็นต์

โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ สสช. เปิดเผยข้อมูลในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า มีผู้ว่างงานรวม 481,000 คน คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.3 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 31,000 คน และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 38,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เรียนจบในระดับอุดมศึกษา ที่ว่างงานมากเป็นจำนวนถึง 198,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8,000 คน และถือเป็นกลุ่มผู้ว่างงานสูงมาต่อเนื่องหลายปี

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ