บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ : ประชา(นิยม)รัฐ ยุค คสช.


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ในปี 2560 อีกหนึ่งนโยบายที่ถือว่า ได้ถูกพูดถึงอย่างมากเรื่องหนึ่งก็คือ การแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ที่สามารถใช้บัตรซื้อสินค้ารวมถึงใช้เป็นค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ บางคนก็บอกว่าเป็นนโยบายที่ไม่แตกต่างกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดก่อนๆ นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหาหลายเรื่อง จนต้องแก้ไขแบบรายวัน

ภาพคนต่อแถวรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรผู้มีรายได้น้อย ที่เริ่มแจกบัตรตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา อาจกำลังสะท้อนได้ว่า ประชากรไทย ยังมีกลุ่มที่เป็นผู้มีรายได้น้อยในสัดส่วนที่มาก เพราะหากวัดจากตัวเลขผู้ผ่านคุณสมบัติมีสิทธิได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็ทะลุไปกว่า 11,400,000 คนแล้ว แม้ว่านโยบายนี้ จะมีกระแสท้วงติงเป็นระยะๆ ว่าเป็นนโยบายไม่แตกต่างจากประชานิยม แต่ผู้มีสิทธิ์ส่วนใหญ่กลับบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พึงพอใจกับนโยบายนี้ หลายคนบอกว่าจะช่วยลดภาระค่าครองชีพในปัจจุบัน เพราะสามารถใช้วงเงินในการซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐได้ 200 - 300 บาทตามฐานรายได้ ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม รวมถึง ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อีกด้วย

แต่ดูเหมือนโครงการนี้ ยังคงมีประเด็นให้พูดถึงอย่างต่อเนื่อง เพราะหลังจากการแจกบัตรเพียงวันเดียวก็พบปัญหาร้านค้าให้ผู้มีสิทธินำวงเงิน 200 และ 300 บาท ในบัตรไปแลกเป็นเงินสดได้ และยังมีนักวิชาการบางคน ออกมาระบุว่า โครงการนี้โดยเฉพาะการซื้อสินค้าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนรายใหญ่ นอกจากนี้ ยังคงมีประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาให้พูดถึงอีกรายวัน อีกหลายเรื่อง ทั้งการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิที่ไม่ได้มาตรฐาน หลังเกิดกระแสดราม่า “คนรวยก็มีบัตรคนจนได้” รวมถึงการติดตั้งเครื่องชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เครื่องอีดีซี ที่ยังล่าช้า

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มองว่า โครงการนี้ควรมีการกลั่นกรองทุกปี ว่าคนกลุ่มนี้จะหลุดพ้นความยากจนได้หรือไม่ ขณะที่การลงทะเบียนในรอบหน้าที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 ผู้มีรายได้น้อยจะต้องมีสัดส่วนที่ไม่สูงขึ้น เพราะหากจำนวนผู้มีสิทธิรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ลดลง ก็เป็นการสะท้อนว่าโครงการนี้ไม่สามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้จริง

สำหรับการช่วยเหลือในระยะต่อไป หรือ เฟสที่ 2 ในปี 2561 รัฐบาลมีแนวคิดจะที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างอาชีพให้กับประชาชนกลุ่มนี้ให้มากขึ้นผ่านอีกหลายโครงการ ซึ่งต้องจับตาว่า มาตรการเหล่านี้ในระยะยาวจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้จริงหรือไม่ เพราะหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ก็คงหนีไม่พ้นข้อครหาที่ว่า นี่เป็นเพียงนโยบายประชานิยม ให้อีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนำกลับมาโจมตีรัฐบาล คสช. ซ้ำรอยเดิม

ขวัญ โม้ชา พีพีทีวีรายงาน

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ