“ของขวัญ”ที่ไม่เคยได้จากรัฐบาล


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทุกๆปีในช่วงเทศกาลปีใหม่โพลจากหลายๆสำนักจะออกสำรวจความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับของขวัญที่อยากได้จากรัฐบาล นิวมีเดีย พีพีทีวี รวบรวมสิ่งที่ประชาชนขอทุกๆปี จาก 3 ช่วงรัฐบาล คือ

ยุคพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งนายกรัฐมนตรี ยุคพรรคเพื่อไทย ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ยุครัฐบาล คสช.นั่งบริหารประเทศ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เห็นได้ว่า “การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง” ของประชาชน คือ ของขวัญที่ขอกันทุกปี ทุกยุครัฐบาล

ปี 2551-2554 ช่วงสมัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี  สวนดุสิตโพล เปิดผลสำรวจพบว่าอันดับหนึ่ง 36.64%  ของขวัญที่ประชาชนขอคือ ขอให้ตั้งใจทำงานอดทนเพื่อบ้านเมืองและขอให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ดียิ่งขึ้น

ต่อมาเมื่อพรรคเพื่อไทยก้าวเข้ามาเป็นรัฐบาลนำโดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบข้อมูลจากเอแบคโพล ถามประชาชนเรื่อง ของขวัญปีใหม่ไทยที่คนไทยอยากได้จากฝ่ายการเมืองและประชาชน อันดับหนึ่งคือ การแก้ปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาเศรษฐกิจ รองลงมาคือการสร้างความปรองดองในชาติ และการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น

จนมาถึงปัจจุบันในยุคสมัยรัฐบาล คสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี  เรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ ก็ยังติดโผอันดับ 1 – 3 อยู่เช่นเดิม รวมถึงปีล่าสุด 2561 ด้วย

โดยนิด้าโพลถามประชาชน 1,203 คนทั่วประเทศกับ “สิ่งที่อยากได้จากรัฐบาลเป็นของขวัญปี 2561” พบว่า อันดับ 1 28.51% แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร รองลงมา 27.68%  แก้ไขปัญหาปากท้อง ปัญหาการว่างงาน และอันดับ 3  13.63% มีการเลือกตั้งภายในปี 2561 ส่วนลำดับถัดๆ มาคือ แจกเงินผู้มีรายได้น้อย และแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น

ทิศทางเดียวกับ ซูเปอร์โพล จาก 1,166 คน เกือบครึ่ง อยากได้ของขวัญคือการแก้ปัญหาปากท้องและค่าครองชีพ รองลงมาคือ เรื่องราคาสินค้าเกษตร

จะเห็นได้ว่า  การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ  ปัญหาการว่างงาน  ค่าครองชีพ ของแพง ติดอันดับหนึ่งในสามของขวัญที่ขอจากรัฐบาลทุกๆ ปี ค้านกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลบอกว่าปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2557 ที่เติบโต 0.9% มาเป็น 2.9% ในปี 2558  3.2% ในปี 2559 และ คาดว่าปีนี้จะโต 3.9% และ 4.1% ในปี 2561 แต่หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับ 80% ของจีดีพี ตามข้อมูลของแบงก์ชาติ  ส่วนคนจนก็ยังเพิ่มขึ้น จาก 4.8 ล้านคนในปี 2558 เป็น 5.8 ล้านคนในปี 2559 ตามข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เช่นเดียวกับเรื่องของแพงที่ขอกันทุกปีปรากฏว่าข้อมูลที่กระทรวงพาณิชย์ไปสำรวจพบคือราคาสินค้าอาหารบริโภคในช่วง 11 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-พ.ย.) ราคาอาหารที่ประชาชนไปรับประทานทั้งนอกบ้านในบ้านเพิ่มขึ้นทุกเดือนราว 1%  เพราะพ่อค้าแม่ค้าจะปรับราคาอาหารปรุงสำเร็จขึ้นช่วงที่วัตถุดิบราคาสูงขึ้นแต่ขึ้นแล้วขึ้นเลยเพราะถ้าราคาวัตถุดิบลงจะไม่ปรับลดราคาลงตาม

ส่วนราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ สะท้อนได้จากตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เมื่อเดือน ก.ย.2560 อยู่ที่ 4.48 หมื่นล้านบาท จากปีก่อน โดย นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคาร ธ.ก.ส. บอกว่า สาเหตุมาจากผลผลิตทางการเกษตรแทบทุกตัวไม่ว่าจะเป็น มัน ข้าวโพด ปาล์ม ยาง ราคาตกต่ำ

อย่างไรก็ตาม นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยกับทีม นิวมีเดีย พีพีทีวี ว่า เชื่อว่าผลสำรวจที่ออกมาในลักษณะนี้ทุกปีเป็นเพียงความอยากได้ของขวัญของประชาชนซึ่งในความเป็นจริงเรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาซึ่งถือว่ารัฐบาลมาถูกทาง คือ การแก้ปัญหาความยากจนโดยการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อให้ความช่วยเหลือที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ความพยายามในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรโดยส่งเสริมการแปรรูป การแก้ปัญหาของแพง  เช่น การเปิดการค้าเสรี จัดตั้งร้านธงฟ้าประชารัฐ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดต้องใช้การแก้ปัญหาจากองค์รวมและมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ดังนั้น ถ้าดูตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เชื่อว่าประชาชนจะค่อยๆได้รับของขวัญจากรัฐบาลทุกปี

ต่อมาเป็นของขวัญเรื่องการแก้ปัญหาการ ทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ผลสำรวจจากเฟซบุ๊กองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้จัดอันดับ 10 ประเด็นคอร์รัปชั่นในสังคมไทยที่ประชาชนจับตา อันดับหนึ่งคือ การส่อทุจริตที่เกี่ยวกับคนใกล้ชิดรัฐบาล การแสดงบัญชีทรัพย์สินของรัฐมนตรีตามกฎหมาย ป.ป.ช. (กรณีแหวนและนาฬิกาหรู)  การเหมาเที่ยวบินไปประชุมที่ฮาวาย และอีกหลายเหตุการณ์ที่ตกเป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา แต่การชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องหลายกรณียังขาดความชัดเจน ตรงไปตรงมาและไม่ทันท่วงที จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์หาความจริงต่อไป

และสุดท้ายคือ การจัดการ “เลือกตั้ง” แม้จะติดอันดับแต่ดูเหมือนว่าปีนี้จะเป็นของขวัญที่มาแรงที่สุดจากการสำรวจผ่านโลกสังคมออนไลน์ของเว็บไซต์ Sanook.com ตลอดทั้งเดือนธันวาคม 2560 พบว่า  46% อยากให้นายกรัฐมนตรีจัดการเลือกตั้งเป็นของขวัญปีใหม่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลประกาศไว้ว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ก็ต้องลุ้นกันว่าจะได้จริงหรือไม่

ขอบคุณ : นิด้าโพล

ซูเปอร์โพล

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์)

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

เว็บไซต์ Sanook.com

เฟซบุ๊กองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ