เมื่อพฤติกรรมการอ่านเปลี่ยน!! ก้าวสู่ยุคไร้กลิ่นหมึก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ในโลกยุคปัจจุบันที่มองไปทางไหนทุกคนก็รับข้อมูลข่าวสารผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน สื่อสิ่งพิมพ์ถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงตัวคั่นเวลายามไม่มีอินเทอร์เน็ตเท่านั้น คงจะไม่เป็นการเกินไปนักหากจะพูดว่าหมดยุคของน้ำหมึกบนแผ่นกระดาษแล้ว แต่เมื่อก่อนคนเรามักจะหาข้อมูลจาก“หอสมุดแห่งชาติ” แต่ทุกวันนี้ชื่อของสถานที่แห่งนี้ทุกคนคงเคยผ่านหูกันมาบ้าง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเคยไปเยือน

“หอสมุดแห่งชาติ” ตั้งอยู่ที่ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2448 โดยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมหอพระสมุด 3 แห่งเข้าด้วยกันคือ หอพุทธสาสนะสังคหะ หอพระมณเฑียรธรรม และหอพระสมุดวชิรญาณ และพระราชทานนามว่า “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร”

หอสมุดแห่งนี้ทำหน้าที่จัดเก็บ และอนุรักษ์มรดกทรัพย์สินทางปัญญา วิทยาการ ศิลปกรรม และวัฒนธรรมของชาติเอาไว้ในรูปของหนังสือตัวพิมพ์ เอกสารโบราณของประเทศไทย เพื่อให้บริการประชาชนเข้ามาสืบค้นและหาความรู้ได้ตามที่ต้องการ โดยบนชั้นวางหนังสือมีหนังสือเรียงรายกันกว่าล้านเล่ม

ทว่าการเข้าสู่ยุคสมัยที่ทุกคนสามารถรับข่าวสารอันมหาศาลได้จากสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว ในทางกลับกันก็เป็นยุคที่เสื่อมถอยของสื่อสิ่งพิมพ์เช่นกัน และนั่นย่อมก่อให้เกิดผลกระทบกับ “หอสมุดแห่งชาติ”

นางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษสำนักหอสมุดแห่งชาติ เผยว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีผู้เข้าใช้บริการหอสมุดแห่งชาติลดลงเรื่อยๆ ปัจจุบันมีผู้เข้าใช้งานหอสมุดแห่งชาติเฉลี่ยวันละ 200-300 คน หากคิดจำนวนประชากรที่เข้ามาใช้บริการประมาณ 1 แสนคนต่อปีเท่านั้น กลุ่มคนที่เข้ามาใช้บริการมักเป็นผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ขณะที่วัยทำงานและนักศึกษาเข้ามาเยี่ยมเยือนบ้างในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์

สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ นายสมศักดิ์  มุ่งพาลชล อายุ 64 ปี ชายวัยเกษียณผู้มาใช้บริการหอสมุดแห่งชาติเป็นประจำเพื่อผ่อนคลาย และพบปะเพื่อนฝูง“ผมมาใช้บริการที่หอสมุดแห่งชาติบ่อยมาก ประมาณสัปดาห์ละ 2-3 วัน ส่วนใหญ่ที่มาก็จะอ่านหนังสือพิมพ์เป็นหลัก หากเบื่อก็จะไปอ่านนิยายต่างๆ จะมาตั้งแต่ 10 โมงเช้าจนถึงบ่าย 3 โมงเย็น การมาที่นี่เหมือนเป็นการผ่อนคลายและเป็นการเข้าสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะการมาที่นี่เราได้พบคนอื่นทำให้มีเพื่อน การเดินทางก็สะดวกสบายมีหนังสือให้อ่านเยอะมาก ทำให้อยากมาเพราะตนเองเกษียณอายุราชการก็ไม่รู้จะทำอะไรอยู่บ้านว่างๆ ก็ออกมาอ่านหนังสือคลายเหงา แก้เบื่อได้เป็นอย่างดี”

สวนทางกับ นายจิรัฏฐ์ เหรียญทอง คณะเศรษฐศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เคยเข้าห้องสมุดของมหาวิทยาลัย“เคยได้ยินชื่อของหอสมุดแห่งชาติ แต่ไม่เคยไป เวลาอาจารย์สั่งงานก็จะหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเท่านั้น เพราะข้อมูลเกือบทุกอย่างสามารถหาได้จากอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตไม่ได้ก็จะเข้าร้านหนังสือและซื้อหนังสือมาเลยมากกว่า เพื่อเป็นคลังความรู้ถาวร”

ส่วนเด็กรุ่นใหม่บางคนให้เหตุผลการไม่เข้าห้องสมุดว่า เพราะมี “ระเบียบ” ที่ค่อนข้างเยอะ เหมือนกับ นางสาว ศิรินทิพย์ อภิลักโตยานันท์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง เล่าว่า เวลาอาจารย์สั่งงานก็จะหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวเพราะหาได้ง่ายกว่าและใกล้ตัวกว่าการไปห้องสมุด นอกจากว่าอาจารย์จะสั่งให้เข้าห้องสมุดไปหาข้อมูลเท่านั้นถึงจะไป  สาเหตุที่ไม่เข้าเพราะห้องสมุดหาข้อมูลยากและกฎระเบียบเยอะ

ความสะดวกสบายในการค้นหาข้อมูลผ่านสื่อดิจิทัล นอกจากกระทบกับการใช้บริการหอสมุดแห่งชาติ และห้องสมุด แล้ว ยังส่งผลกระทบกับสื่อสิ่งพิมพ์อย่าง ”นิตยสาร” ที่ทุกวันนี้ทยอยปิดตัวกันลงไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย หากย้อนกลับไปเมื่อราว 10 ปีที่ผ่านมา คงไม่มีใครคาดคิดว่านิตยสารหัวใหญ่อย่าง “คู่สร้างคู่สม” และ “ขวัญเรือน” ที่มีอยู่ทุกร้านทำผม หรือนิตยสารที่เปิดตัวมากว่า 60 ปีอย่าง “สกุลไทย” จะพ่ายให้กับการถาโถมของการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นิตยสารในประเทศไทยประกาศปิดตัวไปแล้วถึง 20 ฉบับ วันนี้พีพีทีวีจะพาไปไล่เรียงกันวัน ตั้งแต่ปี 2559 มีนิตยสารเล่มไหนที่ยุติการวางจำหน่ายบนแผงหนังสือไปแล้วบ้าง

-เริ่มกันที่เดือน ม.ค. 2559 นิตยสารวัยรุ่น Candy  ในเครือโมโนกรุ๊ป เป็นนิตยสารรายแรกที่ปิดตัวลงรับปี 2559 สำหรับนิตยสารดังกล่าวตีพิมพ์ครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.2547 หรือเมื่อ 12 ปีที่แล้ว

- จากนั้นในเดือน ก.พ. 2559 ก็ถึงคิวของ นิตยสารแฟชั่น “Volume” ที่ต้องอำลาแผงหนังสือเช่นกัน โดยนิตยสารดังกล่าวตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2547

- นิตยสาร “Image” อยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 และเป็นนิตยสารแฟชั่นไลฟ์สไตล์ยักษ์ใหญ่

- นิตยสาร “Cosmopolitan”  ในวงการแฟชั่นมายาวนาน  ส่วนนิตยสารสัญชาติอเมริกันถูกตีพิมพ์ภาษาไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2539 โดยนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงและไลฟ์สไตล์มาตลอดระยะเวลาเกือบ

- มิ.ย.2559 ก็ถึงคิวของ นิตยสารบางกอก รายสัปดาห์ ซึ่งเป็นนิตยสารสุดคลาสสิกที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 60 ปี ก็ต้องอำลาตามพิษเศรษฐกิจ

- ต่อมาในเดือน ส.ค. 2559 มี นิตยสารวัยรุ่นหัวนอก “Seventeen” ที่ตีพิมพ์ภาษาไทยครั้งแรกในเดือน ธ.ค. 2545

- นิตยสาร “สกุลไทย” เป็นนิตยสารสาระความบันเทิงเพื่อทุกคนในครอบครัว วางแผงครั้งแรกเมื่อ 1 พ.ย. 2497 โดยมีจุดขายด้านนวนิยาย เรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ คร่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์มายาวนานถึง 62 ปี

- ต่อมานิตยสาร “Who”  ที่นำเสนอเรื่องราวคนดังในแวดวงต่างๆ ของเมืองไทยก็ต้องโบกมือลาแผงหนังสือไปแล้วเช่นกัน ซึ่งนิตยสารดังกล่าวตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2551 โดยเริ่มต้นจากการเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ จากนั้นจึงปรับการวางแผงเป็นรายปักษ์ และรายเดือน

- นิตยสารวัยรุ่น “I Like” ก็เจอพิษเศรษฐกิจจนต้องปิดตัวลงเช่นกัน โดยนิตยสารรายปักษ์ดังกล่าวออกวางตลาดครั้งแรกในเดือน พ.ค.2544 ได้รับความนิยมและเป็นที่พูดถึง

- นิตยสาร “ภาพยนตร์บันเทิง” ที่ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 นำเสนอเนื้อหาสาระเกี่ยวกับวงการบันเทิงไทยมายาวนานถึง 42 ปี

- สิ้นปีนี้คือ นิตยสารพลอยแกมเพชร นิตยสารผู้หญิงที่ได้รับความนิยมและมียอดสมาชิกเป็นจำนวนมากมาตลอด 24 ปี โดยนิตยสารดังกล่าวก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2535

ส่วนในปี 2560 มีนิตยสารที่ปิดตัวลงไปทั้งหมด 9 เล่ม

- นิตยสาร "แมรี แคลร์" ที่อยู่คู่แผงเป็นเพื่อนคู่คิดผู้หญิงมา 13 ปี  ได้ประกาศปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์

- ตามมาด้วยนิตยสาร "Men's Health" โดยฉบับสุดท้ายจะวางแผงในวันที่ 5 พ.ค.2560

- นิตยสาร "ครัว"  กำลังจะปิดตัวลงโดยเดือน ก.ค.นี้ จะตีพิมพ์เป็นฉบับเดือนสุดท้ายหลังจากสร้างชื่อและฟันฝ่าอุปสรรคมานานกว่า 24 ปี

- นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 มิถุนายนนี้จะเป็นฉบับสุดท้ายที่วาง  ตลอด 25 ปีตั้งแต่ปี 2535

- นิตยสารสำหรับคอหนังอายุ 10 ปี อย่าง "Filmax" ก็ประกาศปิดตัว

- นิตยสาร "ขวัญเรือน" นิตยสารที่ก่อตั้งปี 2511 ได้ประกาศอำลาแผง ปิดตำนาน 49 เป็นนิตยสารสำหรับผู้หญิงและครอบครัว

- ตามมาด้วยนิตยสาร "ดิฉัน"  เนื้อหาสาระน่ารู้ควบคู่ไปกับเรื่องราวในแวดวงบันเทิง แฟชั่น สัมภาษณ์คนดัง รวมถึง กิจกรรมข่าวสารท่องเที่ยว ศิลปะและวัฒนธรรม ที่อยู่คู่คนไทยมานานถึง 37 ปี ก็มีอันต้องปิดตัวลง

- นิตยสาร"มาดาม ฟิกาโร่" นิตยสารหัวนอกสัญชาติฝรั่งเศส กำลังจะลาแผงอีกเล่ม ฉบับสุดท้ายเดือนธันวาคม 2560

- นิตยสาร "คู่สร้าง คู่สม" วางแผงฉบับที่1005 ถือเป็นฉบับสุดท้าย ในวันที่ 20 ธ.ค. 2560   โดยนิตยสารคู่สร้างคู่สม อยู่คู่แผงหนังสือเมืองไทยมาตั้งแต่ปี 2522 เป็นเวลากว่า 38 ปี

จากปรากฏการณ์ข้างต้นบ่งชี้ได้ว่าเหตุที่นิตยสารชื่อดังเหล่านี้ต้องปิดตัวลง ส่วนหนึ่งเพราะพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่รวมถึงคนรุ่นก่อนที่ปรับตัวมาอ่านข้อมูลข่าวสาร ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แทนการซื้อหนังสือ หรือนิตยสาร ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการที่นิตยสารทยอยปิดตัว ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยลง แต่อาจจะเปลี่ยนจากการอ่านผ่านแผ่นกระดาษซึ่งมีกลิ่นหมึกคละคลุ้ง ไปอ่านบนหน้าจอทัชสกรีนกันแทน ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดคงต้องปรับตัวกันให้ทัน

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ