“บิ๊กป้อม” เปรยประชาชนพร้อมรับ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯคนนอกหรือไม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เป็นที่ชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศตัวว่าเป็นนักการเมือง โดยมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป แสดงจุดยืนสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรี แต่สิ่งที่ยังไม่ชัดเจน คือ ประชาชนมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร ล่าสุดวันนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวบางประโยคที่ดูเหมือนว่าจะพยายามหยั่งเชิง เพื่อให้ได้คำตอบจากคำถามนี้

วันนี้ (11 ม.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำพูดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี วันนี้คล้ายกับการโยนหินถามทางประชาชนแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าพร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงหรือไม่ พร้อมระบุว่า ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดอะไรเนื่องจากยังไม่แน่ชัดว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่

ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฎิรูป แสดงความมั่นใจว่า เมื่อถึงเวลาจะมีผู้ร่วมอุดมการณ์ประกาศตัวสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จนได้เสียงข้างมากในรัฐสภาและสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ ขณะเดียวกันนายสมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ระบุว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย อาจต้องมีพรรคการเมืองใหญ่ร่วมสนับสนุน เนื่องจากการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว การจะได้เสียงข้างมากในสภาเพียงพรรคเดียวเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ ส่วน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่จะบริหารงานได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจากเป็นการเข้ามาโดยไม่มีพรรคการเมืองในสังกัดไม่ใช่เรื่องง่าย

โดยตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การจะเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แบ่งได้เป็น  ขั้นตอนหลักๆ คือ ขั้นตอนที่ 1 กำหนดให้คัดเลือกจากบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอก่อน ในขั้นตอนนี้พรรคการเมืองจะเสนอชื่อคนที่อยู่ในบัญชีส.ส.หรือ คนนอกก็ได้ แต่ต้องเปิดเผยรายชื่อก่อนการเลือกตั้ง จากนั้นที่ประชุมรัฐสภาจะลงมติเลือก โดยผู้ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้คะแนนจากที่ประชุมมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือมากกว่า 375 เสียง แต่หากไม่สามารถเลือกได้ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่2 ที่ประชุมรัฐสภาสามารถขอมติเสนอเลือกนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อ ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ที่ผู้เสนอคิดว่าเหมาะสม จากนั้นที่ประชุมจะลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่ ด้วยเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งเช่นเดียวกัน

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นนักการเมือง ควรเข้าสู่สนามการเมืองตั้งแต่ในขั้นตอนแรก เพราะจะมีความชอบธรรมมากกว่าการถูกเสนอชื่อในขั้นตอนที่ 2 นอกจากนี้ความแตกต่างการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง กับการถูกเสนอรายชื่อรอบที่ 2 โดยหาก พล.อ.ประยุทธ์ เข้าสู่สนามการเมืองตั้งแต่ในรอบบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่เสนอโดยพรรคการเมือง จะเป็นการเปิดหน้าสู่ตามระบบการเมือง  เพราะรายชื่อนี้จะต้องถูกเปิดเผยตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง แต่ก็มีความเสี่ยงไม่ได้รับเลือกมากกว่าการถูกเสนอชื่อในรอบที่2 เพราะมีเวลาเจรจาต่อรองเสียงสนับสนุน แต่อาจทำให้ประชาชนตั้งคำถามถึงกระบวนการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี ว่ารายชื่อนายกรัฐมนตรีที่ถูกเสนอในรอบแรกไม่มีคนเหมาะสมจริงๆ หรือเป็นเพราะเกมการเมืองที่ทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรกไม่สำเร็จ

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ