ทางรอดสื่อ!! “สุทธิชัย หยุ่น” แนะยึดความถูกต้อง-จริยธรรม ทิ้งท้ายวันอำลา “เนชั่น”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




“สุทธิชัย หยุ่น” โบกมือลา “เนชั่น” เชื่อสุดท้ายสื่อที่ยังยึดความถูกต้อง-จริยธรรม จะยังอยู่รอดได้ในภาวะการแข่งขันกันสร้างเรตติ้ง

วันนี้ (12 ม.ค.61) นายสุทธิชัย หยุ่น กล่าวในงานเกษียณอำลาเครือเนชั่น โดยในตอนหนึ่งได้กล่าวถึงยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกของข่าวสารและการแข่งขันกันด้วยเรตติ้ง ว่า ท้ายที่สุดสื่อที่อยู่รอดจะยังเป็นสื่อที่ยึดในจริยธรรม มีคุณภาพ และความถูกต้อง ซึ่งคนทำสื่อที่ยังคงยึดมั่นในจุดนี้จะต้องปรึกษาหารือกันเพื่อทำข่าวออกมาเพื่อประชาชน

เขายังบอกด้วยว่านับจากนี้อีกไม่เกิน 6 เดือน เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ จะเข้ามาแทนที่การทำหน้าที่ของคนข่าวอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้น ถ้าเราไม่ปรับให้ทันเทคโนโลยี วันหนึ่งก็จะเป็นวิกฤตของวงการนี้ และเห็นภาพของการเลย์ออฟและการสลายหายไปของคนข่าวไม่น้อย ดังนั้นคนทำสื่อจะต้องรีบคิด ลงมือ แต่ถ้าผิดพลาดจะต้องรีบทำใหม่ ซึ่งเชื่อว่าคนทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพจะสามารถอยู่ได้ในทุกๆ แพลตฟอร์ม

นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงการทำงานในวงการสื่อสารมวลชนตลอด 47 ปี  ถึงจริยธรรมของการเป็นคนข่าวว่า สื่อมวลชนที่มีศักดิ์ศรี คือ สามารถบอกทุกคนว่าเรามีเสรีภาพและไม่มีใครมาสั่งให้เราเขียนหรือไม่ให้เขียนรายงานใดๆ และไม่มีใครมาสั่งให้เราทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้แม้ในยามวิกฤตที่สุด ซึ่งทุกครั้งที่เราฟื้นจากวิกฤตเราจะแข็งแกร่งขึ้นทุกครั้ง

สำหรับนายสุทธิชัย หยุ่น เกิดที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน แซ่หยุ่น และเป็นพี่ชายของนาย เทพชัย หย่อง ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน

สุทธิชัย หยุ่น  จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนแสงทองวิทยา อ.หาดใหญ่ และเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ กรุงเทพมหานคร ซึ่งระหว่างเรียนมีผลงานเขียน กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และสยามรัฐรายวัน

หลังเรียนจบได้เข้าทำงานที่บริษัท ดีทแฮล์ม จำกัด แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นล่ามแปลภาษาให้กับผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกัน ที่เข้ามาสร้างเขื่อนผามอง จ.หนองคาย ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อที่ แผนกอิสระสื่อสารมวลชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างเรียน สุทธิชัย หยุ่น ยังคงโลดแล่นอยู่ในวงการเขียนโดยทำงานด้านพิสูจน์อักษร ให้กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อปี 2511 แต่ด้วยเวลาเรียนกับเวลาทำงานตรงกันเขาจึงตัดสินใจเลือกทำงาน

แม้อายุยังน้อยและไม่มีใบปริญญาแต่มีความสามารถ สุทธิชัย หยุ่น จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าวที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และเลื่อนขึ้นเป็นบรรณาธิการข่าวในประเทศตามลำดับ

จนกระทั่งปี 2514 สุทธิชัย หยุ่น ร่วมกับหม่อมราชวงศ์หญิงสุนิดา กิติยากร , ธรรมนูญ มหาเปารยะ และเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษฉบับแรก ที่มีคนไทยเป็นเจ้าของชื่อว่า “เดอะวอยซ์ออฟเดอะเนชั่น” (The Voice of The Nation) ในวันที่ 1 ก.ค. 2514

จากนั้นในปี พ.ศ. 2517 เขาก้าวเข้ามาสู่วงการวิทยุกระจายเสียงโดยทำงานกับวิทยุแห่งประเทศไทย และเริ่มมีชื่อเสียงจากการเล่าข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซีย ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

ก่อนที่ในอีก 2 ปี ต่อมา วันที่ 8 พ.ย.2519 เขาได้ออกหนังสือพิมพ์ชื่อใหม่ว่า “เดอะเนชั่นรีวิว” (The Nation Review) และในปี 2528 จึงเปลี่ยนเป็นชื่อ The Nation จนถึงปัจจุบัน

นอกจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ปี 2530 วันที่ 6 ต.ค. สุทธิชัย หยุ่น ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ภาษาไทยเกี่ยวกับธุรกิจ หุ้น การเงิน ภายใต้ชื่อ กรุงเทพธุรกิจ พร้อมๆกับริเริ่มวิทยุเนชั่นและยังเป็นหนึ่งในคณะผู้ร่วมดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เมื่อปี 2538 ด้วย

ต่อมาเมื่อปี 2543 ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล เครือเนชั่น โดยเริ่มผลิตรายการโทรทัศน์ครั้งแรกคือ เนชั่นนิวส์ทอล์ก ทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท. จากนั้นเขาก็โลดแล่นอยู่ในวงการสื่อสารมวลชนและมีบทบาทต่อวงการสื่อฯมาตลอด ทั้งในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังและผู้ดำเนินรายการข่าวที่มีความชัดเจน ตรงประเด็น เป็นกลาง และมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองจนกลายเป็นที่จดจำ จึงเป็นที่มาของคำว่า “คนข่าวตัวจริง ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา”

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย.2556 จนถึงปัจจุบัน สุทธิชัย หยุ่น ได้รับเชิญให้เป็นผู้วิเคราะห์ข่าวสถานการณ์ต่างประเทศ ในรายการ ที่นี่ไทยพีบีเอส ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันพฤหัสบดี และหลังจากรัฐประหารในประเทศไทย ปี2557 ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศในรัฐบาลทหารของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ