ฟังเสียง “คนขายแรง” ในวันที่ค่าจ้างปรับขึ้น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังจากที่มติบอร์ดค่าจ้างให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 ทั่วประเทศ อีก 5-22 บาทต่อวัน ทำให้อัตราค่าจ้างใหม่อยู่ที่ 308-330 บาทต่อวัน นั่นหมายความว่าเงินในกระเป๋าของแรงงานจะเพิ่มมากขึ้นแต่จะเพียงพอที่จะใช้ไปกับค่าครองชีพในทุกวันนี้หรือไม่ ไปฟังคำตอบพวกเขากัน

พนักงานล้างรถแห่งหนึ่ง บอกนิวมีเดีย พีพีทีวีว่า เคยได้ค่าจ้างขั้นต่ำต่อวัน 250 บาท แล้วขยับมาเป็น 300 บาท แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นแต่ถ้าการใช้จ่ายก็ยังเหมือนเดิมก็ไม่มีประโยชน์ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนใช้คือต้องประหยัดซึ่งสำหรับตนเองถือว่าพอดีเดือนชนเดือนไม่ได้เหลือเก็บและยังไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้เพียงพอเท่าที่ควร

ขณะที่พนักงานรักษาความปลอดภัย บอกว่า ทุกวันนี้ได้รับค่าจ้าง 315 บาทต่อวันแต่ก็มีภาระต้องส่งให้ลูกที่ต่างจังหวัดจึงจำกัดการใช้เงินอยู่ที่วันละ 100 บาทและอาศัยกินข้าววัดจึงอยากได้ค่าจ้างเพิ่มเป็น 400 บาทต่อวันเพื่อให้เพียงพอกับการใช้จ่ายและสอดคล้องกับราคาสินค้าที่แพงขึ้น

ด้านพนักงานเสริฟ ร้านอาหารแห่งหนึ่ง แจกแจงค่าใช้จ่ายต่อวันให้ทีมงาน นิวมีเดีย พีพีทีวี ฟังว่า ในทุกๆ วันตอนเช้า เธอต้องจ่ายค่าข้าว ค่าน้ำมันไปส่งลูกที่โรงเรียน ค่าขนมลูก 2 คน ซึ่งค่าจ้างวันละ 300 บาทไม่เพียงพอแน่นอน จึงต้องช่วยกันกับสามีหารายได้เสริมและเห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้

สาเหตุที่ทำให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้เป็นที่จับตา เพราะค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานไทยไม่ได้มีการปรับขึ้นมาประมาณ 3-4 ปี ตั้งแต่ปี 2556 โดยครั้งนั้นมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่ 300 บาท ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ต่อมาในปี 2559 คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งโดยมีผลบังคับใช้ต้นปี 2560 แต่ก็พิจารณาเพียง 69 จังหวัดเท่านั้น ในอัตรา 5-10 บาท คือจาก 300 บาทต่อวันเป็น 305-310 บาทต่อวัน ทำให้ยังมีอีก 8 จังหวัดที่ไม่ได้ปรับขึ้น คือ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2561 ที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 ทั่วประเทศอีกครั้งแต่ก็ยังไม่เท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้าง บอกหลังการประชุมยาวนานกว่า 7 ชั่วโมง ว่า ยังไงก็ต้องขึ้น แต่ค่าครองชีพกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจแต่ละจังหวัด “ไม่เท่ากัน”

ทำให้ ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย “ไม่เห็นด้วย” โดยเขาเปิดเผยว่า ไม่พอใจที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ไม่เท่ากันทั่วประเทศแต่ก็ดีกว่าไม่ได้ปรับเลย แต่ก็ยังไม่เป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็นคือ 360 บาทต่อคนต่อวัน หรือ 1 คนเลี้ยงครอบครัวได้ 2 คน คือ 712 บาทต่อคนต่อวัน ตามหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15.97 บาท/วัน ทำอะไรได้บ้าง ?

สำหรับอัตราค่าจ้างใหม่ในปี 2561 มีการปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15.97 บาท ซึ่งมีทั้งหมด 7 ระดับ ตั้งแต่ 308, 310, 315, 318, 320, 325,และ 330 บาท โดยค่าจ้างต่ำสุด คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ที่ 308 บาทต่อวัน ส่วนค่าจ้างแพงสุดมี 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง อยู่ที่ 330 บาทต่อวัน ขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ค่าจ้างอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน โดยเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 23 ม.ค.นี้ เพื่อขอบังคับใช้ตั้งแต่ เม.ย. 61

มาลองคำนวณกันดูว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15.97 บาท/วัน ทำอะไรได้บ้าง ?

มีเงินเพิ่มขึ้น 15.97 บาท x 30 วัน = 479.1 บาท/เดือน

กินข้าวกะเพรา+ไข่ดาว จานละ 40 บาท =  11.9 จาน

กินกาแฟ แก้วละ 25 บาท = 19.16 แก้ว

ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ใบละ 80 บาท =  5.98 ใบ

หยอดกระปุกออมสิน 479.1 บาท/เดือน  1 ปีจะมีเงินเก็บ 5,749.2 บาท

จากข้อมูลของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือน ธ.ค.60 รายงานว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 56.11 ล้านคน แบ่งเป็นมีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานทั้งหมด 37.72 ล้านคน และมีงานทำ 37.19 ล้านคน สามารถแบ่งเป็นประเภทอุตุสาหกรรมที่ทำงานได้ดังนี้ เกษตรกรรม 12.27 ล้านคน การขายส่งฯ 6.05 ล้านคน การผลิต 6.03 ล้านคน ที่พักแรม 2.73 ล้านคน การก่อสร้าง 1.84 ล้านคน บริหารราชการ 1.48 ล้านคน การขนส่ง 1.31 ล้านคน การศึกษา 1.20 ล้านคน บริการอื่นๆ 0.83 ล้านคน และสุขภาพ 0.74 ล้านคน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ