รู้จัก ! PM 2.5 เมื่อฝุ่นละอองปกคลุมกรุงเทพฯ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังจากที่หลายวันมานี้มีหลายคนสังเกตว่ามีหมอกควันปกคลุมทั่วกรุงเทพฯ แต่เพจดังได้ยืนยันว่าไม่ใช่หมอกควันแต่อย่างใด แต่เป็นมลพิษทางอากาศ อย่าง ฝุ่นพิษขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ทำให้กรีนพีซ ได้ออกมาเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษชี้แจงเรื่องนี้และ PM2.5 เข้ามาคำนวณในดัชนีคุณภาพอากาศ

วันนี้ (24 ม.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจดังอย่าง “ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว” ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า “ที่อากาศ 2-3 วันที่ผ่านมา มันขมุกขมัวนั้นไม่ใช่หมอก แต่คือ PM 2.5 คือฝุ่นอนุภาคขนาดจิ๋ว ที่สามารถผ่านขนจมูก ขี้มูก โพรงจมูก คอ หลอดลมใหญ่ ขนพัดโบก เสมหะ หลอดลมเล็ก หลอดลมย่อย ไปตกที่ถุงลมได้โดยตรง ดังนั้นมันสามารถพาอะไรก็ตามที่อยู่ในตัวมัน เช่นหากเป็นฝุ่นที่มีสารเคมี ก็เอาสารเคมีไป ตกในปอดได้ง่ายขึ้น ดังนั้นช่วงนี้ใครที่ทำงานกลางแจ้งอาจจะต้องระมัดระวังในกรณีมีโรคทางเดินหายใจอยู่เดิม”  โดยอ้างอิงที่มาจาก http://aqicn.org/c…/thailand/bangkok/chulalongkorn-hospital/ พร้อมทั้งแนะนำหน้ากากที่สามารถใส่ป้องกันได้
 

ขณะที่เพจดังอย่าง "Drama-addict" ได้โพสต์ยืนยันว่า หมอกลงเช้านี้ที่ กทม นั่นไม่ใช่หมอก แต่เป็นฝุ่นควันอนุภาคขนาดเล็กจิ๋ว ซึ่งมักเกิดจากไฟป่าหรือมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม หากมีในระดับสูงแล้วสูดเข้าไปจะเป็นผลเสียกับสุขภาพได้ ซึ่งของไทยตอนนี้ แดงเถือกเลย แต่ถ้าดูจากแอพลลิเคชั่นพวกเช็คมลภาวะอากาศ จะยังปรากฎสัเขียวเหมือนอากาศดีอยู่ เพราะเขาใช้ค่า PM 10 ซึ่งเป็นอนุภาคที่ใหญ่กว่าเป็นค่าชี้วัด ส่วนของเว็บไซต์ต่างประเทศ เขาใช้ค่า PM 2.5

ด้านกรีนพีซประเทศไทย ได้ออกมาเรียกร้องให้ กรมควบคุมมลพิษ ให้ข้อมูลที่ชัดเจนด้านมลพิษทางอากาศ โดยนำ PM2.5 เข้ามาคำนวณในดัชนีคุณภาพอากาศ เพื่อประชาชนจะได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริงและพร้อมป้องกันตัวจาก PM2.5 และขอให้ประชาชนร่วมลงชื่อเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าเฉลี่ย PM2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI) เพื่อยกระดับมาตรฐานการวัดคุณภาพอากาศในประเทศไทย พร้อมกับอธิบายว่า PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM 2.5) คือฝุ่นที่เล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอดและกระแสเลือดโดยตรง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง PM 2.5 แบ่งเป็นฝุ่นที่เกิดจากแหล่งกำเนิดโดยตรง และจากการรวมตัวของก๊าซและมลพิษอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจน

สำหรับสาเหตุการเกิดมลพิษมาจาก การคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะไอเสียจากยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต่างๆ ทั้ง ดีเซลและแก๊สโซฮอล์เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของ PM 2.5 การเผาในที่โล่ง มีการคาดการณ์ว่า มีการเผาในที่โล่งปล่อยฝุ่นพิษ PM 2.5 มากถึง 209,937 ตันต่อปี รวมถึง หมอกควันพิษในภาคเหนือตอนบนของไทยและภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่เกิดจากการเผาในพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งผลิตป้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่  ส่วนการผลิตไฟฟ้า มีการคาดการณ์ว่า ปล่อย PM 2.5 ราว 31,793 ตันต่อปี ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 231,000 ตันต่อปี และออกไซด์ของไนโตรเจน 227,000 ตันต่อปี แม้ว่าภาคการผลิตไฟฟ้าจะเป็นแหล่งกําเนิด PM 2.5 เป็นลําดับรองจากการเผาในที่โล่งและการขนส่ง แต่การปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนต่อปีจากภาคการผลิตไฟฟ้านั้นมีสัดส่วนมากที่สุดในบรรดาแหล่งกําเนิดต่างๆซึ่งนําไปสู่เกิด PM 2.5  และอุตสาหกรรมการผลิต หนึ่งในพื้นที่ที่พบมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุดคือ พื้นที่เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด จังหวัดระยอง พบสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากสารเคมีและอุตสาหกรรม หรือในเขตควบคุมมลพิษหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี พบฝุ่นละอองจากกิจกรรมการผลิตปูนขาวและปูนซีเมนต์

ขณะที่จากการศึกษาโดย Institute for Health and Evaluation มหาวิทยาลัยวอชิงตัน พบว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารระคายเคืองไปจนถึงสารก่อมะเร็ง จึงเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง ก่อให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรในประเทศไทย ประมาณ 50,000 คนต่อปี

อ่านเพิ่มเติม 
“PM 2.5” ฝุ่นละอองขนาดเล็กแต่เป็นเรื่องใหญ่ต่อสุขภาพ 
กรมควบคุมมลพิษแจง กรุงเทพฯเกิดสภาพอากาศนิ่ง ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ