7 ล้านคนทั่วโลกตายเพราะ"พิษฝุ่นละออง"ทุกปี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อยู่ๆ เมื่อกรุงเทพมหานครถูกปกคลุมด้วยหมอกหนาในตอนเช้าทั้งที่สภาพอากาศไม่ได้ลดต่ำลงทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตในโลกออนไลน์และเผยแพร่ข้อมูลว่าแท้จริงแล้วหมอกที่ว่าคือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่จับตัวกับอากาศและอาจส่งผลเสียกับสุขภาพ

ต่อมาจึงได้รับการเปิดเผยจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ยืนยันว่าคือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ไม่กระจายตัวรวมกับหมอกในช่วงเช้าทำให้มีลักษณะคล้ายหมอกสีน้ำตาลซึ่งมีโอกาสเป็นเช่นนี้ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์

ซึ่งเจ้าฝุ่นละอองที่ว่านี้รู้จักกันในชื่อของค่าฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่ามาตรฐานอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2561 ค่า PM 2.5 ในกรุงเทพฯ สูงถึง 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในตอนเช้าก่อนที่ช่วงกลางวันมีฝนตกลงมาอย่างหนัก จึงทำให้ช่วยชะล้างฝุ่นละอองในอากาศและทำให้สภาพอากาศเริ่มถ่ายเทและเริ่มกลับมาเป็นปกติ (54 – 85 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ในวันที่ 25 ม.ค.2560

แต่รู้หรือไม่ว่าการที่ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศมีค่าสูงเกินมาตรฐานมากๆ และกินระยะเวลานานนั้น กำลังเป็น “วิกฤตระดับโลก” อยู่ในขณะนี้

ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มีประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะมลพิษทางอากาศเฉลี่ย 6.5-7 ล้านคนต่อปี เป็นเด็กถึง 1.7 ล้านคน ในปี 2560 ซึ่งจีนและอินเดียคือประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากมลพิษและฝุ่นละอองสูงที่สุดในโลก โดยในประเทศจีนอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 1 ล้านคน ส่วนอินเดีย กว่า 6 แสนคน

ขณะที่ในประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 5 หมื่นคน ในจำนวนนี้  2.2 หมื่นคนเสียชีวิตเพราะสูดเอาค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานเข้าไปจนเกิดโรคร้าย เช่น มะเร็งปอด โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลว่าเกือบ 90% คนที่เสียชีวิตจากมลพิษในอากาศอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลาง เช่น กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มแปซิฟิกตะวันตกรวมถึงจีนมีแนวโน้มระดับความเข้มข้นค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงขึ้น และเมืองใหญ่ของโลก 30 เมืองที่ก่อมลพิษมากที่สุดมี 25 แห่งอยู่ในเอเชีย

และถ้าไปดู 10 อันดับเมือง ที่มี 'มลพิษทางอากาศ' มากสุดในโลก ปี 2560  จากการวัดค่า PM 2.5 ขององค์การอนามัยโลก ประกอบด้วย

1.เมืองซาบอล (อิหร่าน) 217 มคก./ลบ.ม.

2.เมืองกวาลิเออร์ (อินเดีย)176 มคก./ลบ.ม.

3.เมืองอัลลอฮาบาด (อินเดีย) 170 มคก./ลบ.ม.

4.เมืองรียาด (ซาอุดิอาระเบีย) 156 มคก./ลบ.ม.

5.เมืองอัลจูเบล (ซาอุดิอาระเบีย) 152 มคก./ลบ.ม.

6.เมืองปัฏนา (อินเดีย) 149 มคก./ลบ.ม.

7.เมืองไรปูร์ (อินเดีย) 144 มคก./ลบ.ม.

8.เมืองบาเมนดา(แคเมอรูน) 132 มคก./ลบ.ม.

9.เมืองซิงไต่ (จีน) 128 มคก./ลบ.ม.

10.เมืองเปาติ้ง (จีน) 126 มคก./ลบ.ม.

**ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)

**ค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

ทำให้คาดว่าประชากรโลก 92% หรือราว 6.76 พันล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศ

ดังนั้นเมื่อจำนวนผู้เสียชีวิตสูงขนาดนี้ประชากรโลกอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเกือบทั้งหมด องค์การอนามัยโลกจึงออกประกาศเตือนว่าภัยร้ายจากมลพิษทางอากาศอันตรายมากกว่า “อีโบลา”และ “เอชไอวี”

แต่ใช่ว่าโลกจะนิ่งเฉย หลายประเทศเริ่มตื่นตัวที่เห็นชัดเจนที่สุด คือ จีน จริงจังถึงขนาดยกให้เป็นนโยบายระดับชาติ โดยตั้งเป้าหมายบำบัดมลพิษทางอากาศระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2560  เพื่อให้ความเข้มข้นโดยเฉลี่ยของฝุ่นละออง PM 2.5 ลดลงให้ได้ 10%  ด้วยการผลักดันการใช้พลังงานสะอาดแทนถ่านหินของหม้อไอน้ำ จัดการการใช้ถ่านหินด้อยคุณภาพในชนบท การโอนย้ายหรือสั่งปิดบริษัทที่ก่อให้เกิดมลพิษกว่า 2,000 แห่ง เป็นต้น รวมทั้งในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม มณฑลต่างๆ ของจีน ประกาศมาตรฐานในการเก็บภาษีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอัตรา 12 หยวนต่อหน่วยของการปล่อยมลพิษทางอากาศด้วย

จากเป้าหมายและนโยบายรวมถึงการเอาจริงเอาจังของรัฐบาล ทำให้ในปี 2560 ความเข้มข้น PM 2.5 เฉลี่ยต่อปีในกรุงปักกิ่งเมืองหลวงลดลงถึง 20.5% เมื่อเทียบกับปี 2559 และมีจำนวนวันที่มีคุณภาพอากาศดีมากถึง 226 วัน เพิ่มขึ้น 28 วันเมื่อเทียบกับปี 2559 ส่วนวันที่มีมลพิษทางอากาศหนักมากลดลง 16 วัน

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่คือภัยที่มาพร้อมๆกับการหายใจในทุกๆวันของเรา โดยที่ไม่รู้เลยว่าร่างกายรับฝุ่นละอองเข้าไปมากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งการใช้หน้ากากอนามัยเป็นการป้องกันที่ง่ายที่สุด แต่นอกเหนือจากนั้นคือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทั้งสภาพการจราจร การเผาไฟในที่โล่ง โรงงานอุตสาหกรรม ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุสำคัญเพราะฉะนั้น

“อย่าตื่นตัวเป็นพักๆแล้วปล่อยให้การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจางหายไป”

ของคุณภาพจาก AFP

ข้อมูล องค์การอนามัยโลก

กรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรุงปักกิ่ง

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ