“โรคซึมเศร้า” เรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




“โรคซึมเศร้า” โรคที่ค่อยๆ เป็นที่รู้จักและสนใจกันมากขึ้นในสังคมไทย เนื่องระยะหลังๆ มีข่าวคราวฆ่าตัวตายอันมีสาเหตุจากโรคนี้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนดัง อย่างกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้น ณ ประเทศเกาหลี “คิม จง-ฮยอน” สมาชิกวงบอยแบนด์ชายนี่ (SHINee) ที่ฆ่าตัวตายในห้องพักด้วยการรมควันตัวเอง โดยมีการทิ้งจดหมายไว้ว่าต้องทนทุกข์กับโรคซึมเศร้ามานาน

ถ้าย้อนไปอีกนิดพบว่าเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โรคซึมเศร้าได้พรากชีวิต “เชสเตอร์ เบนนิงตัน” นักร้องนำวงร็อคก้องโลกอย่าง  Linkin Park ไปตลอดกาลด้วยการฆ่าตัวตายเช่นเดียวกัน และเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนดังที่ต่างประเทศเท่านั้น

ในประเทศไทยก็เคยมีกรณีของนาย ประชาธิป มุสิกพงศ์ หรือที่รู้จักกันในนาม สิงห์ Sqweez Animal ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าซึ่งกระโดดตึกฆ่าตัวตายเมื่อช่วงสองปีก่อน และล่าสุดกับกรณีที่เกิดขึ้นกับสาววัยรุ่นอายุ 18 ปีไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดสะพานพระราม 8 นั่นหมายความว่าโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในหมู่คนมีชื่อเสียงเท่านั้น และทำให้คนในสังคมไทยหันมาสนใจโรคนี้กันมากขึ้น

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาส จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ความจริงโรคซึมเศร้ามีมานานแล้ว แต่ที่คนไทยให้ความสนใจในช่วงหลังมานี้ เนื่องจากได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับโรคนี้บ่อยขึ้น ทำให้สังคมหันมาสนใจซึ่งถือเป็นเรื่องดี เนื่องจากในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าประมาณ 2 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีตัวเลขของผู้เป็นโรคซึมเศร้าเฉลี่ยที่ 5% - 10% ของประชาชนทั้งประเทศ

ความเศร้า – โรคซึมเศร้า ต่างกันอย่างไร ?

นพ.อภิชาติ อธิบายว่า มนุษย์ทุกคนบนโลกสามารถเศร้าได้ ใครไม่เศร้าจะถือว่าผิดปกติ คนที่จะเลิกกับแฟน คนที่มีปัญหาครอบครัว หรือเครียดจากปัญหาการทำงาน ความเศร้าไม่ผิดปกติ ความเศร้าถูกสร้างมาเพื่อให้เราหลีกหนีความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เป็นกลไกปกติของจิตใจ และเมื่อไหร่ที่เรื่องร้าย ๆ ผ่านไป จิตใจของคนเราก็จะดีขึ้น เพราะสมองจะสั่งการให้ความรู้สึกเศร้าหายไป เพื่อให้ดำรงชีวิตได้ปกติ

แต่ถ้าเป็นโรคซึมเศร้า แทนที่สมองจะสั่งให้ความเศร้าหายไป สมองกลับสั่งให้เศร้ามากขึ้นเรื่อย ๆ หรือแม้บางครั้งไม่มีเรื่องให้เศร้าสมองก็จะสั่งให้เศร้า ถือเป็นความเศร้าที่ผิดปกติ 

สาเหตุที่เป็นโรคซึมเศร้า

นพ.อภิชาติ กล่าวว่า คนที่จะเป็นโรคซึมเศร้าหลักๆ เกิดจากพันธุกรรมเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งพันธุกรรมจะแสดงออกมาในช่วงของวัยรุ่นพบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง  ทุกอาชีพและทุกสถานะสังคม ดังนั้นปัจจุบันทางการแพทย์เชื่อว่าการเป็นโรคนี้หลักๆจะเกิดจากพันธุกรรม แต่นอกเหนือจากพันธุกรรมก็จะเป็นภาวะความเครียด ความกดดัน การปรับตัว การใช้ชีวิต ที่สามารถทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้

บางทฤษฎีบอกว่าถ้าคนในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้าเราอาจจะไม่เป็นก็ได้ ถ้าเรามีสุขภาพจิตที่ดี ดูแลตัวเองดี มีการพูดคุยระบายความเครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ใช้สารเสพติด เพราะหากมีการใช้สารเสพติดจะมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้มากขึ้น เนื่องจากสารเสพติดจะไปกระตุ้นให้สารเคมีในสมองสั่งงานผิดปกติ

ตรวจเช็กตัวเองก่อนไหมว่าเป็นหรือไม่?

ส่วนอาการของคนที่เป็นโรคซึมเศร้า คือ จะมีอารมณ์ซึมเศร้า หงุดหงิด ,ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง, สมาธิเสีย คือ ไม่ค่อยมีสมาธิเวลาทำสิ่งต่างๆ , รู้สึกอ่อนเพลีย,เชื่องช้า ทำอะไรก็เชื่องช้าไปหมด, รับประทานอาหารมากขึ้น หรือรับประทานน้อยลง,นอนมากขึ้น หรือนอนน้อยลง, ชอบตำหนิตัวเอง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่พบได้มากในคนเป็นโรคซึมเศร้าและหากมีการพยายามฆ่าตัวตาย ก็ตั้งข้อสันนิษฐานได้เช่นกันว่า คนนั้นมีสิทธิเป็นโรคซึมเศร้า

เมื่อรู้ถึงอาการเหล่านี้แล้วสิ่งที่ควรทำ คือ สำรวจตัวเองและคนรอบข้างว่าตอนนี้มีความเครียดไหม ถ้ารู้สึกมีความเครียดควรพูดคุยกับผู้อื่น เพื่อได้รับคำปรึษาและหาทางแก้ไข หรือถ้าอยากได้คำปรึษาโทรไปได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 โทรฟรีได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเดินทางไปรับคำปรึกษาจากแพทย์ ปัจจุบันเกือบทุกโรงพยาบาลมีให้บริการและให้คำปรึษาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า โดยสามารถใช้สิทธิประกันสังคม บัตรทอง หรือสิทธิต่างๆได้

“อย่ารอให้ถึงวันที่เราคิดฆ่าตัวตาย เพราะโรคนี้มีทางรักษาให้หายขาดได้ หากใครที่ไม่ยอมมารักษาถือว่าเชยแล้ว”  โฆษกกรมสุขภาพจิตกล่าวทิ้งท้าย เพื่อเตือนสติคนรอบข้างควรใส่ใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้าให้มากๆ ถ้าคุณไม่อยากเสียเขาไปตลอดกาล

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ