รู้หรือไม่ ! ทำไม “จันทรุปราคาเต็มดวง” ครั้งนี้ถึงเรียก “ซูเปอร์บลูบลัดมูน”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ในช่วงค่ำของวันนี้จะเกิดปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง นอกจากจะเป็นการเกิดครั้งแรกในปีนี้แล้ว “จันทรุปราคาเต็มดวง” ครั้งนี้ยังมีปรากฎการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 3 อย่าง จนถูกเรียกว่า "ซูเปอร์บลูบลัดมูน" (Super blue blood moon) วันนี้ทีมนิวมีเดีย พีพีทีวี จะพาไปรู้จักกับความหมายของปรากฎการณ์นี้กัน

“ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง” ในประเทศไทยในวันนี้ (31 ม.ค.61)  สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า สังเกตได้ทุกพื้นที่ของประเทศ ตั้งแต่หัวค่ำเป็นต้นไปทางทิศตะวันออก โดยจะเริ่มเข้าสู่การเกิดจันทรุปราคา ตั้งแต่เวลา 17.51 น.  แต่จะเข้าสู่ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ตั้งแต่เวลา 19.51-21.07 น. เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงนาน 1 ชั่วโมง 16 นาที ช่วงเวลาดังกล่าวดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทั้งดวง และปรากฎการณ์นี้จะสิ้นสุดในเวลา 23.08 น. ส่วนใครที่พลาดชมในครั้งนี้ต้องรอชมอีกครั้งในวันที่ 28 ก.ค.61

แต่ที่ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งปกติ เนื่องจาก มีปรากฎการณ์ทั้ง 3 อย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน เรียกว่า "ซูเปอร์บลูบลัดมูน" (Super blue blood moon) หรือ จันทรุปราคาเต็มดวงช่วงที่ดวงจันทร์โคจรใกล้โลกและตรงกับจันทร์เพ็ญครั้งที่สองของเดือน


ซูเปอร์ฟูลมูน (Supermoon) คือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก ตามนิยามของ Richard Nolle  ในการเกิดปรากฎการณ์จันทรุปราคาครั้งนี้ที่เกิดในช่วงดวงจันทร์โคจรอยู่ใกล้โลกช่วงกึ่งกลางคราสเต็มดวง มีระยะห่างจากโลกเพียง 360,191 กิโลเมตร ซึ่งใกล้กว่าระยะห่างเฉลี่ยระหว่างโลกถึงดวงจันทร์ ประมาณ 384,400 กิโลเมตร  จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐ มีขนาดปรากฎใหญ่กว่าปกติเพียงเล็กน้อย

บลูมูน ( Bluemoon ) คือ ดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2  ในเดือนเดียวกัน  สำหรับเดือนที่มีดวงจันทร์เต็มดวง 2 ครั้ง จะเรียกดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองว่า “บลูมูน” ซึ่งเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก เป็นที่มาของสำนวนอังกฤษว่า “Once in a blue moon” หมายถึงว่า นานทีจะเกิดขึ้นสักครั้งและดวงจันทร์ไม่ได้เป็นสีน้ำเงินแต่อย่างใด

บลัดมูน ( Bloodmoon ) คือ จันทรุปราคาเต็มดวง ในระหว่างที่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงยังคงมีแสงจากดวงอาทิตย์บางส่วนไปตกจากดวงจันทร์แสงที่มีความยาวคลื่นสั้นอย่างแสงสีฟ้าถูกกระเจิงออกไปหมดเหลือแต่แสงที่มีความยาวคลื่นยาวอย่างแสงสีส้มหรือแดงหักเหไปตกบนดวงจันทร์

สำหรับ “จันทรุปราคา” เป็นปรากฎการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ส่วนประเภทของจันทรุปราคา คือ 1. จันทรุปราคาเต็มดวง : ดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มหรือสีแดงอิฐ  2.จันทรุปราคาบางส่วน : ดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลกเพียงบางส่วน จะมองเห็นดวงจันทร์มีลักษณะเว้าแหว่ง 3. จันทรุปราคาเงามัว : ดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในเงามัวของโลก โดยไม่ผ่านเงามืด ยังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่ความสว่างลดน้อยลง สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก



ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ภาพ  : AFP 

อ่านต่อ
ชวนส่องจันทร์สีแดงอิฐ "จันทรุปราคาเต็มดวง" ครั้งแรกของปี 31 ม.ค.นี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ