นักวิชาการ ชี้ “รถดีเซล”ต้นเหตุปล่อยฝุ่นละออง จี้รัฐยกมาตรฐานเครื่อง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ข้อมูลว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงกว่ามาตรฐานมาจากรถยนต์ สอดคล้องกับข้อมูลของวิศวกรเครื่องกล และกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า “รถดีเซล”เป็นต้นตอของปัญหาฝุ่นละอองมากที่สุด

วันนี้(15 ก.พ.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รองศาสตราจารย์ อังคีร์ ศรีภคากร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า กลุ่มควันที่ระบายออกจากท่อไอเสียรถ เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดมลภาวะในอากาศ โดยเฉพาะรถกระบะ รถบรรทุก และรถโดยสารสาธารณะที่ใช้ “เครื่องยนต์ดีเซล” และเป็นต้นกำเนิดหลักของ ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่ชาวกรุงเทพมหานครกำลังเผชิญอยู่

ในรถยนต์รุ่นใหม่จะติดตั้งอุปกรณ์ฟอกไอเสียที่เรียกว่า “แคตตาไลติกคอนเวอร์เตอร์ (Catalytic convertor) ที่ช่วยกรองได้ส่วนหนึ่ง แต่ในรถที่ใช้งานเป็นเวลานานการทำงานของเครื่องยนต์เสื่อมสภาพ และในกลุ่มรถแต่งนิยมถอดชิ้นส่วนนี้ออกเพราะมีผลต่อการใช้ความเร็ว ทำให้ค่ามลพิษที่ปล่อยออกมาจะยิ่งสูงขึ้น

แม้รถทุกคันจะต้องเข้ารับการตรวจสอบควันดำที่ออกจากท่อในการต่อทะเบียน โดยเทคนิคตรวจสอบ “ความทึบแสง”  โดยค่าแสงจะต้องส่องผ่านควันได้ไม่น้อยกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ ตามมาตรฐานความปลอดภัยในการปล่อยมลพิษ ยูโร 4

แต่นายอรรณพ หาญกิจ ผอ.สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก ยอมรับว่า ไม่ได้ตรวจสอบการติดตั้งอุปกรณ์แคตตาไลติกคอนเวอร์เตอร์ และไม่ได้ตรวจสอบค่า PM 2.5

ปัจจุบันมีรถจดทะเบียนสะสมในกรุงเทพมหานคร 9 ล้าน 8 แสนคัน  เป็นเครื่องยนต์ดีเซล 2 ล้าน 5 แสนคัน แบ่งเป็นรถเก๋ง, รถสองแถว,รถกระบะ,รถโดยสารสาธารณะ และรถตู้  

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พยายามผลักดันนโยบายยกระดับมาตรฐานการปล่อยมลพิษรถยนต์ดีเซลสู่มาตรฐานยูโร 5 แต่ในมุมนักวิชาการมองว่าควรใช้มาตรฐานยูโร 6 เช่นเดียวประเทศที่พัฒนาแล้ว และเสนอจัดโซนห้ามรถดีเซลวิ่งในพื้นที่ค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน

เจริญศักดิ์ ศรีสุทธิพันธิพร ถ่ายภาพ

อรอุษา พรมอ๊อด รายงาน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ