"เหล้า-บุหรี่" สาเหตุหลักทำชายน้อยกว่าหญิง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล เผยเหล้า-บุหรี่ เป็นสาเหตุหลักทำให้ชายไทยอายุ 25 ปี ขึ้นไปเสี่ยงเกิดโรคและอุบัติเหตุ ส่งผลประชากรชายลดลง

จากข้อมูลของสำนักทะเบียนกลางประกาศผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2561 เปิดเผยจำนวนประชากรไทยจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2560 อยู่ที่ 66,188,503 ล้านคน ได้รับสัญชาติไทยแล้ว 65,312,689 ล้านคน และยังไม่ได้รับสัญชาติ 875,814 คน ประชากรชายได้รับสัญชาติจำนวน 32,008,430 คน ขณะที่หญิง 33,304,259 คน มีจำนวนมากกว่าชายถึง 1,295,829 ล้านคน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิดา ชวนวัน อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้จำนวนประชากรชายลดลง จนเกิดความไม่สมดุลในอัตราส่วนเพศ โดยเฉพาะผู้ชายช่วงอายุ 25 ปีขึ้นไป มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ และอุบัติเหตุ เป็นผลมาจากพฤติกรรมเสี่ยงจากการดื่มแอลกอฮอล์ และ สูบบุหรี่ ที่มากกว่าผู้หญิง

สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบในด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยด้านสังคมมีผลต่อการจับคู่ของหญิงกับชาย เมื่อผู้หญิงมีมากกว่า ทำให้ผู้หญิงบางส่วนไม่สามารถเข้าคู่ได้ และเลือกครองตัวเป็นโสด ขณะที่ด้านเศรษฐกิจผู้หญิงมีภาวะความเป็นผู้นำ มีโอกาสเติบโตและก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากขึ้น ในบางอาชีพที่แต่เดิมใช้ผู้ชายเป็นหลัก แต่ปัจจุบันผู้หญิงก็สามารถทำได้ เช่น วิศวกร และนักบิน

ขณะที่รายงานสถิติจำนวนทะเบียนหย่า สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ปี 2559 ที่มีการจดทะเบียนหย่าจำนวน 118,539 และปี 2560 ถึง 121,617 คู่ ยิ่งตอกย้ำข้อมูลในเรื่องการครองตัวเป็นโสดของคนในยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้ ตามหลักการสากลขององค์การสหประชาชาติ ระบุไว้ว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินอัตราส่วนร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ จะถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบเมื่อมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ขึ้นไป ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 17 ของประชากรทั้งหมด และจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในปี 2564 และสู่จุดสูงสุดในปี 2574 คือ ร้อยละ 28

สิ่งที่นักวิชาการด้านประชากรศาสตร์มักมีข้อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐอยู่เสมอ คือ การส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุ และขยายระยะเวลาการเกษียณให้มีระยะยาวออกไป เพราะในปัจจุบัน เมื่อผู้สูงอายุมีอายุครบ 60 ปี จะเริ่มมีความรู้สึกไม่อยากทำงาน ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงความความคิด เพียงแต่ในอนาคตอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบคือเน้นการใช้เครื่องจักร หรือ เครื่องทุ่นแรงมากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานผู้สูงอายุ เพื่อให้แรงงานผู้สูงอายุสามารถทำงานทดแทนวัยแรงงานได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศุทธิดา ชวนวัน อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ยังได้แนะนำการเตรียมความพร้อมก่อนสูงวัย 3 ข้อ ประกอบด้วย ด้านสุขภาพ คือ การมีสุขภาพที่ดี ลดปัจจัยเสี่ยง เหล้า-บุหรี่ และ หมั่นออกกำลังกาย, ด้านสังคม พัฒนาตัวเองด้านการทำงาน ฝึกอาชีพที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ ใช้เครื่องทุ่นแรงมากกว่าแรงงาน และด้านเศรษฐกิจ การออมเงินเพื่อไว้ใช้ในวัยเกษียณ ในวันที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว

 

         

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ