กรมประมงยันมีมาตรการคุมเข้มนำเข้าปลาฟุกุชิมะขอผู้บริโภควางใจ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากกรณีที่สำนักข่าวญี่ปุ่นรายงานข่าวว่า ประเทศไทยนำเข้าปลาจากจังหวัดฟุกุชิมะ ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดที่เคยเกิดเหตุวิกฤตินิวเคลียร์เมื่อปี 2554 สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนคนไทยจำนวนหนึ่งที่ได้รับข่าวสารนี้ ล่าสุดรองอธิบดีกรมประมงออกมายืนยันว่า ปลาทั้งหมดที่ผ่านเข้ามาในประเทศไทย ได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวด

เมื่อวันที่ (6 มี.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกือบ 1 ปี ที่ชาวประมงในจังหวัดฟุกุชิมะ สามารถกลับมาทำประมงนอกชายฝั่งได้ หลังจากที่ก่อนหน้านั้นถูกสั่งให้ยุติการทำประมงนอกชายฝั่ง เพราะ เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ส่งผลกระทบทำให้ระบบทำความเย็นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ล้มเหลว สร้างความกังวลว่าสารกัมมันตภาพรังสี จากน้ำที่ปนเปื้อนที่รั่วไหลลงสู่ทะเล จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวตวิทยาในมหาสมุทรซึ่งแม้ปัจจุบันจะสามารถทำการประมงได้ แต่ก็ยังจำกัดพื้นที่เหลือเพียง 10 กิโลเมตร จากเดิมที่สามารถทำได้ในพื้นที่ 20 กิโลเมตร  ความสนใจในเรื่องนี้ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง หลังสำนักข่าว JAPAN TIMES รายงานข่าวว่า ประเทศไทยนำเข้าปลาตาเดียว (คาเรย์) 110 กิโลกรัม จากฟุกุชิมะ สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนคนไทยที่ทราบข่าว เพราะกังวลว่าอาจมีการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี

ล่าสุดนางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยก็นำเข้าปลาจากทุกประเทศ และไม่เคยมีการสั่งห้ามนำเข้าปลาจากประเทศญี่ปุ่นมาก่อน ทั้งนี้มองว่าการตรวจสอบการนำเข้าอาหารของไทยเป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กำหนดรวมถึงการควบคุมมาตรฐานกัมมันตภาพรังสีด้วย  สำหรับขั้นตอนการนำเข้าปลาทุกชนิด เจ้าหน้าที่ด่านตรวจประมงจะต้องตรวจสอบตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงต้องเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจสอบ หากผ่านเกณฑ์จึงจะสามารถอนุญาตให้นำเข้าได้

นอกจากนี้นางอุมาพร ยังแสดงความเห็นว่าข่าวดังกล่าวออกมา เนื่องจากเป็นการโปรโมทของบริษัทผู้นำเข้าปลา โดยให้เหตุผลว่าเป็นการนำเข้าตาปลาเดียวครั้งแรกของไทย พร้อมทั้งขอยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะแม้แต่ช่วงเกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็มีการนำเข้าปลาจากญี่ปุ่น แต่หน่วยงานของไทยได้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ