เสียงเรียกจาก "ต้นไม้ในเมือง" ผู้ประสบภัยเขตก่อสร้างรถไฟฟ้า


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เมื่อ “ต้นไม้ในเมือง” พูดไม่ได้พวกเขากลุ่มคนที่รักต้นไม้หลายต่อหลายกลุ่ม ต่างรวมตัวกันเพื่อพูดแทนต้นไม้ และยกให้ต้นไม้ 14 ต้นที่ถูกตัดไปหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าเป็นการสังเวยชีวิตเพื่อให้ต้นไม้ในเมืองที่อยู่ตามแนวเขตก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ยังไม่ได้ถูกตัดและเคลื่อนย้ายอยู่รอด และย้ำว่ารถไฟฟ้าและต้นไม้สามารถอยู่ร่วมกันได้หากมีการจัดการที่ดีเพียงพอ

หลังจากที่มีการตัดต้นไม้โดยที่ไม่รอการอนุญาตบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นส่วนหนึ่งในโครงการสร้างรถไฟฟ้า เรื่องราวนี้ถูกเปิดเผยจาก “เพจเฮ้ยนี่มันฟุตบาทไทยแลนด์” จนกลายเป็นกระแสในสังคมอีกครั้ง ก่อนจะมีการรายงานข่าวและผู้อำนวยการเขตจตุจักรได้เข้าแจ้งความกับตำรวจเพื่อเปรียบเทียบปรับ จนทำให้ประชาชนที่หวงแหนต้นไม้ต้องออกมาเคลื่อนไหวโดยการยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้ทบทวนการดูแล “ต้นไม้ในเมือง” ผู้ที่ทำหน้าที่ฟอกปอดและเพิ่ม "พื้นที่สีเขียว" ให้กับคนกรุงเทพมหานครต่อไปควบคู่กับความเจริญที่เข้ามาอย่างการสร้างรถไฟฟ้า


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ กลุ่มตัวแทนภาคประชาชนที่เห็นความสำคัญของต้นไม้ในเมือง ประกอบด้วยเครือข่ายต้นไม้ในเมือง กลุ่มบิ๊กทรี สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เพจเฮ้ยนี่มันฟุตบาทไทยแลนด์ อ.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่มจตุจักรโมเดล ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเพจกรุงเทพเดินสบาย ได้ยื่นหนังสือที่ศาลาว่ากลางกรุงเทพมหานคร โดยมีนายเกรียงพล พัฒนรัฐ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับมอบหนังสือแทน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เพื่อขอเรียกร้องให้ทบทวนมาตรการปฏิบัติต่อต้นไม้ในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า เนื่องจากทางกลุ่มฯ กังวลต่อวิธีการปฏิบัติของผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายในเมือง และเกรงว่าการปฏิบัติต่อต้นไม้ในเมือง อาจจะทำให้ต้องมีการตัดหรือย้ายออกทั้งหมด หากอยู่ในแนวเกาะกลางรวมทั้งสองข้างทางที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ทางกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน จึงได้นำหนังสือมาเรียกร้อง 7 ข้อ

ข้อแรกคือ ขอให้เปิดเผยข้อมูลต้นไม้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายตลอดโครงการ 2. ขอให้มีการตัดและล้อมย้ายต้นไม้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ  3. ขอให้ทำการตรวจสอบต้นไม้ที่มีการขุดล้อมย้ายไปก่อนหน้านี้ ว่าอยู่ในสภาพปกติหรือไม่ 4. ขอให้มีจุดปลูกเสริม หากจำเป็นต้องมีการตัดทิ้งและย้ายต้นไม้ 5. ขอให้สร้างวิธีการที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบได้ว่าหน่วยงานได้ดำเนินการจริง  6. ขอให้มีการจัดตั้งตัวแทน 4 ฝ่ายเพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติต่อต้นไม้ 7.ขอให้ทบทวนแนวทางการประเมินคุณค่าของต้นไม้กรณีที่ต้องถูกทำลายลง เนื่องจากอัตราค่าปรับตามกฎหมายเทียบไม่ได้กับคุณค่าของต้นไม้แต่ละต้น

“ช่อผกา วิริยานนท์”  ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมือง เปิดเผยกับทีมนิวมีเดีย พีพีทีวีว่า เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 10 ม.ค. เครือข่ายต้นไม้ในเมืองได้เรียกร้องให้กรุงเทพมหานครปรับปรุงกระบวนการต่อต้นไม้ในเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และได้มีการเชิญบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกราย มารับทราบแนวปฏิบัติแล้ว พร้อมกับเชิญนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการล้อมย้ายต้นไม้มาจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้รับเหมา แต่ภาพการตัดต้นไม้หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นการทำงานที่ผิดหลักวิชาการ แม้ว่าที่ผ่านมาได้มีการเชิญมาเพื่อสอนวิธีการที่ถูกต้องแล้ว ความผิดครั้งนี้จึงเป็น “ความผิดที่ซ้ำซาก” เมื่อผิดแล้วไม่รู้ว่าผิด จึงต้องมีการร่างข้อเสนอ 7 ข้อ เพื่อยื่นบอกกรุงเทพมหานครให้ช่วยแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบ ตอนนี้กรุงเทพมหานครรับทราบแล้ว เราก็จะรอการตอบรับกลับมา ก่อนที่สัปดาห์หน้าจะมีการยื่นฟ้องศาลปกครองต่อไป

ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมือง บอกต่อว่า ไม่ใช่แค่ถนนหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นถนนทั่วกรุงเทพฯ ที่จะมีรถไฟฟ้าผ่าน และต้องเอาต้นไม้เกาะกลาง รวมทั้งด้านซ้ายและด้านขวาออก ประเมินจากสายตาแล้วน่าจะมีเป็นหลักพันต้น แล้วจัดการอย่างไรกับต้นไม้เหล่านั้น จำเป็นต้องเอาต้นไม้ออกจริงไหม เมื่อนำออกไปแล้วจะนำไปไว้ที่ไหน ถ้าเอาต้นไม้ออกไปแล้วนำกลับมาไม่ได้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร



“สุดท้ายประชาชนต้องได้ทั้งรถไฟฟ้าและต้นไม้ ถ้ามีรถไฟฟ้าแต่ไม่มีต้นไม้นั่นแปลว่าทุกคนจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่ความคุ้มค่า อาจจะเรียกได้ว่า 14 ต้นที่ถูกตัดไปเป็นการสังเวยชีวิตเพื่อให้ต้นที่เหลือมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่คนจะทำให้ 14 ต้นที่เสียหายเป็นประโยชน์ต่อต้นที่เหลือหรือไม่ คือหน่วยงาน หนึ่งในนั้นคือกรุงเทพมหานคร”

แม้จะเดินหน้าปลุกให้คนหันมาสนใจ “ต้นไม้ในเมือง” แบบทุกวันนี้ “ช่อผกา” ยอมรับว่า เธอไม่ใช่อนุรักษ์ แต่เธอเป็นพิธีกรโทรทัศน์ เป็นคนเมืองธรรมดา ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาที่เธอหันมาสนใจเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลง่ายๆคือ “ร้อน” และ “โลกมันร้อนขึ้น” แล้วเมืองอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีต้นไม้ใหญ่ที่หงิกๆงอๆ ที่เหมือนไม่มีได้ประโยชน์กับเรา ที่เขาตัดต้นไม้ผิด แต่ต้นไม้เหล่านั้นกลับมีประโยชน์กับเรามากทั้งคุณภาพชีวิต ระบบทางเดินหายใจ สุขภาพจิต เมื่อมาศึกษาแล้วต้นไม้ในเมืองเป็นคำตอบในการแก้ปัญหาเมืองและแก้ปัญหาสุขภาพจิตและสุขภาพกาย แต่ผู้บริหารอาจจะยังมองไม่เห็นในเรื่องนี้

“กรณีการสร้างรถไฟฟ้ามันจะเป็นการฆาตกรรมต้นไม้ครั้งใหญ่ ที่เราทุกคนจะต้องยินดีให้ต้นไม้ถูกกระทำเพราะแลกกับรถไฟฟ้า แต่พวกเรามองว่าไม่จำเป็นต้องแลก คนกรุงเทพฯทั้งจังหวัดไม่จำเป็นต้องแลกต้นไม้ในเมืองกับรถไฟฟ้า เราได้ทั้งสองอย่าง เพราะประเทศอื่นในโลกนี้เขาทำได้ ประเทศไทยก็ทำได้ถ้าเราเปลี่ยนวิธีทำ”

 

ขณะที่ “อรยา สูตะบุตร” ผู้ประสานงานกลุ่มบิ๊กทรี บอกว่า ที่ผ่านมาทางกลุ่มได้พยายามเป็นคนที่พูดแทนต้นไม้ว่าเขามีประโยชน์กับคนโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ในที่สุดเมืองต้องการต้นไม้ใหญ่ที่จะกรองอากาศและเป็นเครื่องปรับอากาศ ถ้าเราอยากจะเป็นเมืองที่มีต้นไม้ดูแลเรา เราต้องดูแลต้นไม้ให้ดี มีสุขภาพดี ให้มันมีกิ่งก้านสาขา ให้ร่มเงา ถ้ามันเป็นต้นไม้ที่ไม่มีใบเลยหรือมีใบเล็กๆก็ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของเราเท่าต้นไม้ใหญ่ แล้วการที่เมืองจะมีต้นไม้ใหญ่ที่ร่มรื่นแข็งแรงต้องอาศัยคนที่มีความรู้ ตั้งแต่ปลูกไปจนถึงการดูแลตัดแต่ง และถ้ามีโรคจะจัดการกับปัญหาอย่างไร
 

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับในประเทศไทยคือเราขาดทั้งความรู้และบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญกับเรื่องพวกนี้ แต่เราก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดึ้นคือประชาชนไม่ได้อยู่เงียบๆ ไม่ได้อยู่เฉยๆ พอประชาชนส่งเสียงเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการดูแลต้นไม้ใหญ่ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ตื่นตัวในระบบราชการจะมีการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะช้าสักนิดหนึ่ง แต่ก็ได้เริ่มขึ้นแล้วและต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อความเปลี่ยนแปลงที่มีความยั่งยืน”

ผู้ประสานงานกลุ่มบิ๊กทรี ย้อนเล่าว่า เวลาสร้างรถไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมานั้น ต้นไม้ที่อยู่เกาะกลางถนนนั้นจะอยู่ไม่ค่อยได้ แต่ในทางวิศวกรรมเชื่อว่าจะมีการทำได้โดยที่ต้นไม้ยังอยู่ แต่คาดว่าน่าจะเป็นวิธีการที่ซับซ้อน และผู้รับเหมาอาจจะไม่เคยทำและคิดว่ามันเป็นวิธีที่ยุ่งยากเกินไป ที่ผ่านมาการกำกับดูแลการล้อมย้ายต้นไม้ยังทำได้ไม่ดี และเสี่ยงต่อต้นไม้ใหญ่เหล่านั้นจะไม่รอดและมีสภาพอ่อนแอมากๆ วิธีการที่เคยเห็นมีหลายรูปแบบคือ เคยตัดต้นไม้ไปเลยเพราะเคยเห็นต้นไม้ที่ถูกกองไว้ บางครั้งก็ใช้รถงัดออกมา บางครั้งก็มีการมีการขุดรอบๆต้นแล้วนำสแลนมาเย็บแล้วห่อ ก่อนจะล้อมย้ายไป วิธีนี้จะเห็นค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเห็นการริบกิ่งแล้วล้อมย้าย ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างเสี่ยงที่ต้นไม้จะตาย บางต้นอาจจะแตกกิ่งมาใหม่ แต่จะแตกกิ่งขนาดเล็กและอ่อนแอ กว่าจะเลี้ยงให้กลายเป็นกิ่งที่แข็งแรง อาจจะต้องใช้เวลานาน การจะตัดควรจะมีผู้เชี่ยวชาญในการริบใบริบกิ่ง การดูแลในการล้อมย้ายต้องมีความประณีต และมีความหวังว่าต้นไม้จะมีชีวิตรอด ต่างจากการที่เราเห็นที่หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในวันนั้น

นอกจากการล้อมย้ายต้นไม้ที่อยู่ในพื้นที่รถไฟฟ้าแล้วต้นไม้ที่อยู่ริมถนนที่ได้รับการตัดแต่งกิ่ง ต้นไม้ที่จะได้อยู่ในที่เดิมของมัน ที่เคยมีการร้องเรียนว่ามีการตัดแต่งกิ่งโหดๆ ระยะหลังก็พบว่ามีการตัดแต่งกิ่งแบบผู้เชี่ยวชาญแนะนำก็ไม่ค่อยมีปัญหาที่พาดกับสายไฟแล้ว ในบางเขตที่มีการตื่นตัว หลายคนอาจจะมองว่าเครือข่ายของพวกเราจะอยู่ตรงข้ามกับเจ้าหน้าที่รัฐฯ แต่จริงๆแล้วในตอนนี้ พวกเรากับกรุงเทพมหานครและการไฟฟ้าฯ เนื่องจากเรามาจับมือคุยกันและร่วมกันอบรมเจ้าหน้าที่ในการตัดแต่งกิ่ง และให้พวกเรานำเสนอความช่วยเหลือในการชวนภาคเอกชนและมีผู้มีความเชี่ยวชาญมาอบรมรุกขกร แม้ว่าไม่ได้เห็นพัฒนาการว่าต้นไม้สวยทั้งกรุงเทพ แต่ได้เห็นพัฒนาการของความร่วมมือในการพัฒนาทักษะและความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น


“เมืองไทยเราโชคดีที่เรามีต้นไม้ที่หลากหลายมาก เป็นต้นไม้ใหญ่ที่สวยงามและมีประโยชน์มันน่าเสียดายที่ว่าเรามีของดีแต่เรารักษากันไม่ค่อยจะเป็น ต้นไม้ก็จะตาย ตายแล้วปลูกใหม่ ถ้าเรามีผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่การปลูก การเลือกพันธุ์ไม้ การดูแลอย่างต่อเนื่อง เราก็จะได้ประโยชน์จากต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ในเมืองที่มีมลภาวะมากๆอย่างกรุงเทพมหานครก็จะเป็นประโยชน์ โดยหากนับจริงๆแล้วรุกขกรในประเทศไม่น่าจะมีเกินร้อยคน แม้ว่าปัจจุบันรุกขกรที่มีความเชี่ยวชาญเหล่านี้ก็เริ่มมาช่วยสอนรุกขกรรุ่นใหม่มากขึ้น แต่ในระยะยาวประเทศของเราต้องการผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มากขึ้นอีกเยอะ”  ผู้ประสานงานกลุ่มบิ๊กทรี ทิ้งท้าย

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ