พบข้อมูลกำแพงน้ำแข็งกันน้ำไหลซึมเตาปฏิกรณ์ฟุกุชิมะใช้งานไม่ได้ผล  


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันอาทิตย์นี้ ก็จะครบรอบ 7 ปี เหตุแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น ที่สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ให้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จังหวัดฟุกุชิมะ จนเกิดกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล ความพยายามหนึ่งของบริษัทไฟฟ้าโตเกียว หรือเทปโก ในการกำจัดและป้องกันกัมมันตรังสีปนเปื้อน  ก็คือ การก่อสร้างกำแพงน้ำแข็ง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำใต้ดินไหลเข้าสู่บริเวณเตาปฏิกรณ์และเกิดการปนเปื้อนไหลลงสู่ทะแล  ซึ่งกำแพงน้ำแข็งส่วนสุดท้าย เพิ่งเปิดใช้งานเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา  แต่จากข้อมูลล่าสุด พบว่า กำแพงน้ำแข็งนี้ อาจใช้งานไม่ได้ผลอย่างที่ค

ตอนที่ประกาศโครงการกำแพงน้ำแข็งรอบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ เมื่อปี 2013  เทปโก ยืนยันว่า กำแพงน้ำแข็งจะสามารถสกัดน้ำใต้ดินไม่ให้ไหลซึมเข้ามาเจอกับซากเตาปฏิกรณ์ที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสี ได้เกือบทั้งหมด  อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่เปิดเผยโดยเทปโก พบว่าตั้งแต่กำแพงน้ำแข็งเริ่มใช้งานเต็มรูปแบบเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา มีน้ำใต้ดินซึมเข้าไปในเตาปฏิกรณ์เฉลี่ยวันละ 141 ตัน ปริมาณน้ำใต้ดินที่ไหลซึมเข้ามานั้นมักจะขึ้นลงตามปริมาณฝนที่ตกลงมา โดยเดือนมกราคมที่ไม่มีฝนตก  ปริมาณน้ำเฉลี่ยที่ไหลซึมอยู่ที่วันละ 83 ตัน  ขณะที่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีพายุไต้ฝุ่นเข้า ปริมาณน้ำเฉลี่ยที่ไหลเข้าเตาปฏิกรณ์กลับเพิ่มสูงถึง 866 ตัน

 

การไหลซึมของน้ำใต้ดินอย่างต่อเนื่องได้ทำให้เกิดน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ทางเทปโกต้องสูบออกมา และเก็บไว้ในแทงก์น้ำ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 1 พันถัง คิดเป็นปริมาณน้ำ 1 ล้านตัน  ขณะที่บริษัทยอมรับว่า ภายในปี 2021 จะไม่มีที่เหลือสำหรับเก็บน้ำปนเปื้อน    

นายเดล ไคลน์ อดีตประธานคณะกรรมการกำกับดูแลนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ และหัวหน้าคณะกรรมการภายนอกที่ให้คำปรึกษาเรื่องความปลอดภัยแก่เทปโก มองว่า ประสิทธิภาพของกำแพงน้ำแข็งอาจจะถูกยกย่องมากเกินไป  ขณะที่การเคลื่อนที่ของน้ำบริเวณโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะมีความซับซ้อนมาก ซึ่งทำให้คาดเดาการไหลของน้ำที่แน่นอนได้ยาก โดยเฉพาะช่วงที่มีฝนตกหนัก   จริงอยู่ที่กำแพงน้ำแข็งอาจได้ผลบางส่วน แต่ก็จำเป็นต้องมีมาตรการอย่างอื่นเพิ่มเติมอีก

          

     

อย่างไรก็ตาม นายนาโอะฮิโร มาสึดะ ประธานฝ่ายเตรียมการเพื่อปลดระวางโรงไฟฟ้าฟุกุชิมา-ไดอิจิ เชื่อว่า กำแพงน้ำแข็งทำหน้าที่ได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการสกัดน้ำใต้ดินที่เข้ามา รวมถึงป้องกันไม่ให้น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่โรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น   โดยบริษัทจะทุ่มเงินหลายพันล้านเยนต่อปี เพื่อบำรุงรักษากำแพงน้ำแข็งต่อไป 

สำหรับกำแพงน้ำแข็งนี้ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 34,500 ล้านเยน (ราว 1 หมื่นล้านบาท)  โดยเป็นการฝังท่อบรรจุสารหล่อเย็น 1,500 ท่อ ลงใต้ดินลึก 30 เมตร เพื่อแช่แข็งชั้นดินโดยรอบเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะทั้ง 4 แห่ง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำใต้ดินจากเชิงเขาไหลเข้ามาปนเปื้อน และไหลออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งการควบคุมการไหลซึมของน้ำใต้ดินนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาปลดระวางโรงไฟฟ้าฟุกุชิมา-ไดอิจิ


ภาพ : Reuters 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ