เช็ก !! อายุเท่าไหร่ควรนอนหลับวันละกี่ชั่วโมง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การนอนหลับเป็นวิธีพักผ่อนที่ดีที่สุดสำหรับร่างกาย และเนื่องในวันนอนหลับโลก เรามาดูกันว่าในแต่ละช่วงอายุใช้เวลานอนเท่าไหร่ถึงเหมาะสม

เนื่องในวันศุกร์สัปดาห์เต็มที่สองของเดือน “มีนาคม” ในทุกๆ ปีถูกกำหนดให้เป็น "วันนอนหลับโลก" หรือ "World Sleep Day" โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเฉลิมฉลองให้กับการนอนหลับที่สนิท และเรียกร้องให้สาธารณชนเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ อาทิ การแพทย์ การศึกษา ปัญหาสังคม และการขับขี่ จัดขึ้นโดยคณะกรรมจัดงานวันนอนหลับโลกภายใต้สมาคมการแพทย์เพื่อการนอนหลับโลก (World Association of Sleep Medicine: WASM) มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการนอนหลับไม่สนิทและไม่เพียงพอของประชาชนในสังคม ด้วยวิธีการป้องกัน และการจัดการการนอนหลับที่ผิดปกติอย่างถูกต้อง

แนะเคล็ดลับ “หลับสนิท” สุขภาพดี ชีวีมีสุข

โดยคณะกรรมการที่จัดงานวันนอนหลับโลก ของ “WASM” หรือ “The World Association of Sleep Medicine” ระบุว่า กิจกรรมนี้จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2008 เพื่อเป็นการให้ทุกคนบนโลกตระหนักและให้ความสำคัญกับ “ปัญหาการนอนหลับ” ที่แม้ว่าจะเป็นแค่จุดเล็กๆ แต่หากว่าเกิดขึ้นแล้ว จะสร้างภาระเรื้อรังต่อเนื่องไม่รู้จบ

​8 เคล็ดลับเพื่อการนอนหลับที่ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ ในแต่ละช่วงอายุมีความต้องการในการพักผ่อนนอนหลับที่แตกต่างกัน โดยมูลนิธิการนอนหลับแห่งชาติ ในสหรัฐอเมริกา ( National Sleep Foundation ) ระบุเวลาในการนอนหลับที่เหมาะสมแบ่งตามอายุ ดังนี้

- เด็กแรกเกิด (อายุ 0-3 เดือน) ควรนอน 14-17 ชั่วโมงต่อวัน

- เด็กทารก (อายุ 4-11เดือน) ควรนอน 12-15 ชั่วโมงต่อวัน

- เด็ก (อายุ 1-2 ปี) ควรนอน 11-14 ชั่วโมงต่อวัน

- วัยอนุบาล (3-5 ปี) ควรนอน 10-13 ชั่วโมงต่อวัน

- วัยประถม (6-13 ปี) ควรนอน 9-11 ชั่วโมงต่อวัน

- วัยมัธยม (14-17 ปี) ควรนอน 8-10 ชั่วโมงต่อวัน

- วัยรุ่น (18-25 ปี) ควรนอน 7-9 ชั่วโมงต่อวัน

- วัยทำงาน (26-64 ปี) ควรนอน 7-9 ชั่วโมงต่อวัน

- วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) ควรนอน 7-8 ชั่วโมงต่อวัน

 

ประโยชน์ของการนอนหลับ

สำหรับการนอนหลับมีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกายและผิวพรรณช่วยซ่อมแซมเซลล์ผิวหนังหรืออวัยวะที่สึกหรอ และยังช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนของร่างกาย ซึ่งมีสารสำคัญที่ร่างกายหลั่งออกมาในช่วงเวลานอนหลับ เช่น สารเมลาโทนิน(Melatonin) เป็นสารที่ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต

หากนอนหลับไม่เพียงพอก็จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกายรวมทั้งผิวพรรณแย่ลง โดยการอดนอนจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานหนักขึ้นซึ่งเลือดจะมีเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นและเม็ดเลือดขาวเหล่านี้จะสลายตัวในเวลาต่อมาจึงทำให้ความสามารถของร่างกายในการต้านทานต่อเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสเสียไป

การนอนที่ดีควรจัดตารางเวลาการนอนให้เหมาะสม ตามความต้องการของร่างกายซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ยิ่งอายุน้อยยิ่งต้องการนอนมาก สำหรับผู้ใหญ่ทั่วไปนอนประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวันก็เพียงพอแล้ว เวลาที่แนะนำให้เข้านอนไม่ควรจะเกิน 4 ทุ่ม หรือ 22.00 น. โดยบรรยากาศในห้องนอนควรจะเงียบ ไม่มีเสียงรบกวน อุณหภูมิในห้องต้องเย็นพอดีและควรจะปิดไฟให้มืด ต่อมาควรเลือกหมอนและเตียงนอนให้เหมาะสมกับสรีระของร่างกาย หมั่นเปลี่ยนผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนหรือนำมาซักทุกอาทิตย์เพื่อจะได้ช่วยลดการสะสมของฝุ่นและไร หรือหากิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย เช่น การอาบน้ำอุ่น ฟังเพลงจังหวะสบายๆ ที่สำคัญการนั่งสมาธิซึ่งช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอนโดรฟีน(Endorphine)ออกมา ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายและช่วยให้นอนหลับได้สบายยิ่งขึ้น

การนอนหงายเป็นท่านอนที่ดีต่อสุขภาพเพราะเป็นท่านอนที่ไม่มีอะไรมากดทับหน้าอกช่วยให้ระบบทางเดินหายใจทำงานได้อย่างคล่องตัว การนอนตะแคงหรือการนอนคว่ำนานๆ จะทำให้เกิดแรงกดทับซึ่งก่อให้เกิดริ้วรอยบนใบหน้า หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เพราะคาเฟอีนจะกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว ทำให้นอนหลับได้ยาก แต่ไม่ควรดื่มน้ำมากก่อนเข้านอนเพราะอาจทำให้ต้องตื่นกลางดึกบ่อยๆ เพื่อมาเข้าห้องน้ำ และสุดท้าย ไม่ควรบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลก่อนช่วงเวลา 6 โมงเย็น เพราะน้ำตาลเป็นตัวทำลายโกรทฮอร์โมน เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเข้านอนแต่หัวค่ำแต่ตื่นเช้าขึ้นมายังง่วงอยู่ นั้นเพราะก่อนนอนอาจเผลอไปทานอาหารที่เป็นแป้งหรือขนมหวานเข้าไป

อาการง่วงนอนในเวลากลางวัน อาจเป็นสิ่งที่บ่งชี้โรคอัลไซเมอร์

ประสานธิ เวมุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรังสีวิทยาประจำเมโยคลินิก (Mayo Clinic) ในสหรัฐอเมริกา และทีมนักวิจัย ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างเกือบ 300 คน ที่มีอายุ 70 ปี และไม่มีภาวะสมองเสื่อม โดย 1 ใน 5 มีระบุว่ามีปัญหาง่วงนอนมากในเวลากลางวัน ซึ่งเมื่อเวมุรี เปรียบเทียบสมองของคนกลุ่มนี้ กับอาสาสมัครคนอื่น ๆ ก็พบว่า คนกลุ่มที่ง่วงในเวลากลางวัน มีแนวโน้มว่าจะมีระดับแอมิลอยด์ (amyloid) เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแอมิลอยด์นี้ เป็นโปรตีนที่ทำให้เซลล์ประสาทเสียหาย

นอกจากนี้ การสะสมของโปรตีนแอมิลอยด์ในกลุ่มคนที่ง่วงในเวลากลางวันยังเร็วกว่ากลุ่มที่ไม่รู้สึกง่วง ขณะที่ส่วนของสมองที่มีโปรตีนแอมิลอยด์สะสมมากที่สุด คือ 2 ส่วนที่เรียกว่า แอนทีเรียร์ ซิงกูเลต (anterior cingulate) และซิงกูเลต พรีคิวนุส (cingulate precuneus) ซึ่งผู้ป่วยอัลไซเมอร์ โดยทั่วไปจะมีระดับโปรตีนแอมิลอยด์สูงในสมองสองส่วนนี้ 

อ่านข่าว : งานวิจัยสหรัฐฯเผย ง่วงนอนกลางวันอาจเป็นสัญญาณ “อัลไซเมอร์”

 

ขอบคุณข้อมูลจาก https://sleepfoundation.org/press-release/national-sleep-foundation-recommends-new-sleep-times/page/0/1 , pharmacy.mahidol.ac.th , https://en.wikipedia.org/wiki/World_Sleep_Day , http://www.ryt9.com/s/iqry/1366280

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ