"ผู้มีรายได้น้อย"เมินโครงการรัฐฝึกอาชีพ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยตัวเลขผู้มีรายได้น้อยเกือบ 3 ล้านคน ปฏิเสธที่จะเข้ารับการฝึกพัฒนาอาชีพ โดยให้เหตุผลว่า พอใจกับความเป็นอยู่ในตอนนี้ ขณะที่รัฐบาลเองก็พยายามอัดงบประมาณช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเพื่อพาประเทศไทยก้าวผ่านเส้นความยากจนให้ได้

ภายหลังจากที่รัฐบาลเดินหน้าแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีเป้าหมายในการช่วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อย 30,000 ถึง 100,000 บาทต่อปี และมีผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ 11,400,000 คน โดยผู้ถือบัตรจะมีเงินสดที่ใส่ลงในบัตร 200-300 บาทในเฟสแรกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ เช่น นำไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ในร้านค้าที่ร่วมรายการ ค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง เป็นต้น

ส่วนในเฟสที่สองเริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่เคยลงทะเบียนไว้ในเฟสแรกแต่ในเฟสที่สองนี้มีความแตกต่างจากเฟสแรก โดยกระทรวงการคลัง เน้นที่การพัฒนาคุณภาพชีวิต การฝึกอาชีพ ฝึกทักษะต่างๆ มีงานทำ เพื่อในอนาคตเข้าถึงแหล่งทุน เข้าถึงสินเชื่อ และหลุดพ้นวงจรหนี้นอกระบบ

โดยในเฟสที่สองหากลงทะเบียนแล้วและเข้ารับการฝึกอาชีพรัฐบาลจะเพิ่มวงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพให้อีก โดยผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี จะได้รับวงเงินเพิ่มเป็นเป็นเดือนละ 500 บาท สูงกว่า 30,000 บาท/ปี แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี เพิ่มเป็นเดือนละ 300 บาท เริ่มจ่ายให้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2561

“แต่ถ้าไม่มาฝึกอบรมก็จะถูกระงับการจ่ายเงินเพิ่มและถูกริบเงินคืน”

ปรากฏว่าข้อมูลจากกระทรวงการคลังหลังเปิดให้มีการแจ้งความประสงค์เพื่อสร้างฝึกอาชีพ พบว่า มีผู้มาลงทะเบียน 6,400,000 คน จากจำนวนผู้มีบัตร 11,400,000 คน โดย 44% หรือ 2,800,000 คน ไม่ต้องการพัฒนาอาชีพ

นาย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า สาเหตุเพราะเขาพอใจกับความเป็นอยู่ตอนนี้ ซึ่งในอนาคตอาจมีการตัดสิทธิคนกลุ่มนี้เพราะมีความพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แล้ว

และถ้ามาดูที่งบประมาณอันเป็นเงินภาษีของประชาชนรัฐบาลใช้เงินไปแล้วทั้งสิ้น 76,000 ล้านบาท โดยในเฟสแรกใช้งบประมาณ 41,000 ล้านบาท ส่วนเฟสที่สอง 35,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ล่าสุด ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินระยะที่ 2 วงเงินอีก 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยหวังให้หลุดพ้นจากวังวนหนี้นอกระบบ รวมถึงเตรียมเงินสำรองอีก 4,000 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการเป็นหนี้เอ็นพีแอล

ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของความพยายามในการนำพาประเทศไทยและผู้มีรายได้น้อย 4 ล้านคน มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี ซึ่งจะถือว่าหลุดพ้นจากความยากจนแต่อีกด้านหนึ่งการแก้ปัญหาความยากจนต้องมาจากความร่วมมือของผู้มีรายได้น้อยเองที่ต้องผลักดันหรือพัฒนาตัวเองให้ก้าวผ่านเส้นความยากจนนี้ไปให้ได้อย่างยั่งยืน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ