วัยรุ่นไทย 4.0 นิยมอ่านผ่านแอพฯ เฉลี่ย 23 นาที/วัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยนิยมซื้อหนังสือน้อยลง จนทำให้หลายสำนักพิมพ์รวมถึงร้านหนังสือต่างๆ ทยอยปิดตัวลง เนื่องจากยอดขายที่ลดลงแต่ต้นทุนกลับสูงขึ้น ทำให้เกิดข้อสงสัยที่ว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยลงหรือเปล่า หนังสือถึงขายไม่ออกและต้องปิดตัวลง อาจเป็นเพราะด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปผู้คนหันไปใช้โซเชียลมากขึ้น จนเกิดคำว่า “สังคมก้มหน้า” เพราะคนนิยมอ่านข่าวสารหรืออ่านนิยายผ่านช่องทาง “ออนไลน์” มากขึ้น

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผย สถิติการอ่านของวัยรุ่นไทย เมื่อปี2558 ระบุว่า วัยรุ่นอ่านหนังสือกว่า 89.6% และเฉลี่ยอ่านวันละ 94 นาที โดยอ่านผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 54.9% จากสถิติที่กล่าวไปข้างต้นเป็นเครื่องยืนยันว่า วัยรุ่นไทยไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลงแต่อย่างใด ขณะที่ทีมนิวมีเดีย พีพีทีวี พบแอพพลิเคชั่นที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นตอนนี้ คือ “จอยลดา” เป็นแอพพลิเคชั่นนิยายรูปแบบใหม่จาก Ookbee  (อุ๊คบี) ที่มีเจ้าของเดียวกับ “ธัญวลัย” แอพพลิเคชั่นสำหรับอ่านและเขียนนิยายออนไลน์ทุกประเภท สำหรับแอพฯจอยลดา กำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น ด้วยการฉีกกรอบการอ่านนิยายที่ผ่านมา ด้วยการเปลี่ยนการอ่านนิยายจากบทบรรยายเป็นบทสนทนา  สร้างความแปลกใหม่ให้ผู้อ่านได้รู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในเรื่อง ใช้งานง่ายและสะดวก

“จอยลดา” เปิดตัวเมื่อ 14 กรกฏาคม 2560 โดยเกิดไอเดียจากแอพพลิเคชั่นหนึ่งในต่างประเทศ และนำมาเป็นไอเดียในการสร้างแอพพลิเคชั่น  ที่มาของชื่อนี้มาจาก “จอย” มีจากภาษาอังกฤษ (joy) หมายถึงความสนุกสนาน ส่วนคำว่า “ลดา”  มาจากการที่ก็ลองหาดูในเว็บไซต์ แต่คำว่าลดาก็ไม่ได้มาจากภาษาไทย แต่เป็นภาษาแถบสโลวาเกีย มีความหมายแปลว่าผู้หญิงที่มีความสนุกสนาน เทพธิดา จนกลายเป็นที่มาของ “มาสคอตจอยลดา” ที่เป็นเด็กผู้หญิงที่ดูร่าเริงแจ่มใส  จุดเด่นของจอยลดาคือการอ่านที่แตกต่างจากการอ่านแบบทั่วไปแต่เป็นการอ่านแบบแชทที่ใช้การแตะเพื่ออ่านข้อความ และยังมีหมวดหมู่นิยายที่หลากหลายกว่า 11 ประเภท รองรับทุกความชอบของคนทุกเพศทุกวัย

เพื่อหาคำตอบว่าทำไมจอยลดาถึงเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นอย่างล้นหลาม “ธิดาพร พฤกษมาศวงศ์” คอมมูนิตี้ เมเนเจอร์ (Community manager) ของแอพพลิเคชั่นจอยลดา อธิบายว่า น่าจะเป็นเพราะการอ่านที่เป็นแบบข้อความ “แชท” เป็นความแปลกใหม่ ที่ถูกใจเด็กๆวัยรุ่น เมื่อเขาอ่านแล้วถูกจริต และเข้าใจ ด้วยสังคมที่ทุกคนใช้ไลน์ใช้แชทกันตลอดเวลาอยู่แล้ว แค่เปลี่ยนจากการที่เราคุยกับเพื่อน เป็นอ่านบทสนทนาที่ตัวละครคุยกันแทน เหมือนกับการอ่านแชทไลน์ของคนอื่น

“ส่วนตัวมองว่าการอ่านของวัยรุ่นยุคปัจจุบันไม่ได้อ่านน้อยลง แต่เปลี่ยนการอ่านจากเล่มมาอ่านผ่านทางออนไลน์มากกว่า เพราะแอพฯจอยลดามีวัยรุ่นใช้จำนวนมาก ในหนึ่งวันใช้เวลาประมาณ 23 นาทีเป็นอย่างต่ำเพื่ออ่านนิยายในแอพฯจอยลดา มีทั้งคนที่อ่านน้อยและอ่านเยอะ การอ่านผ่านช่องทางออนไลน์เป็นที่นิยม เพราะสามารถอ่านที่ไหนก็ได้ เข้าถึงได้ง่าย อย่างจอยลดาก็เช่นกัน เพราะเป็นแค่บทสนทนา ทำให้เข้าถึงง่าย”  

 

ปัจจุบันแอพฯจอยลดามียอดผู้ใช้งานกว่า 2,000,000 ยูเซอร์ และมีผู้ใช้งานแต่งนิยายไว้กว่า 800,000 เรื่อง ในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา โดยการอ่านแบบแชทนั้นจะมีการนับยอดวิวที่ต่างจากเว็บทั่วไป ยอดวิวของจอยลดาคือ “ยอดจอย”  ซึ่งยอดจอยเกิดจากการแตะที่หน้าจอเพื่อให้ข้อความในนิยายเด้งขึ้นมา โดยหนึ่งข้อความจะนับเป็นหนึ่งจอย  และยิ่งมียอดจอยมากก็เท่ากับมีคนกดอ่านมาก สามารถเป็นตัวการันตีได้ว่านิยายเรื่องนั้นสนุกหรือเป็นที่นิยม ซึ่งแอพฯจอยลดามียอดจอยกว่าหนึ่งพันล้านครั้งต่อวัน หรือมีผู้ใช้แตะหน้าจอกว่าหนึ่งพันล้านครั้งต่อวัน และจุดเด่นอีกอย่างของจอยลดาคือ ผู้แต่งจะได้รับเงินจากการแต่งนิยายเมื่อยอดจอยถึงที่ทางแอพฯกำหนด เฉลี่ยประมาณ 6 - 7 บาทต่อ 1 ล้านจอย

ที่ผ่านมามีนิยายที่ประสบความสำเร็จหลายเรื่อง เรื่องที่ได้รับความนิยมอย่าง “ใครฆ่าซอนโฮ” แต่งโดยผู้แต่งที่ใช้นามปากกาว่า “เช็ค’บิล” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ เอกวารสารศาสตร์ โดยเริ่มเขียนนิยายลงเว็บไซต์ มากว่า 10 ปี เริ่มมีผลงานตีพิมพ์เป็นเล่ม เมื่อ 3 ปีก่อน ก่อนที่ปีที่แล้วจะเริ่มแต่งนิยายในแอพฯจอยลดา อธิบายว่า การเขียนนิยายในแอพฯจอยลดา แตกต่างกับแบบบรรยายอย่างมาก ตรงที่จอยลดาเป็นนิยายแชท ต้องทำให้เหมือนคุยไลน์ให้มากที่สุดและคนอ่านเข้าใจว่าเหตุการณ์เกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะมีแต่บทพูดจึงยากมากกว่าปกติ ตรงที่ไม่สามารถบรรยายทุกอย่าง ทั้งการกระทำ ทั้งความรู้สึกตัวละครลงไปได้ โดยส่วนตัวแล้วชอบเขียนทั้งสองแบบ เพราะแบบบรรยายก็มีข้อดีตรงที่สามารถฝึกทักษะภาษาที่ถูกต้อง เพราะต้องบรรยายให้ผู้อ่านเห็นภาพ ส่วนที่ยากคือการเขียนเนื้อเรื่องอย่างไรไม่ให้ออกทะเล ไม่ให้ยืดยาวน่าเบื่อ แต่ดูน่าติดตาม

นอกจากนี้ “ผู้แต่ง” รายนี้ มองว่า จากที่เห็นตามโลกออนไลน์ วัยรุ่นอ่านหนังสือเยอะ แต่ไม่ใช่หนังสือวิชาการ แต่จะเป็นนิยายมากกว่า ถือว่าดีแปลว่าเขาก็สนใจในการอ่านเหมือนกันและยังทำให้เขาได้เขียนได้อ่านภาษาที่ถูกต้อง

ด้าน “จิดาภา ก้องศิริวงศ์” ผู้อ่านจากแอพพลิเคชั่นจอยลดา เล่าว่า ตนเป็นคนชอบอ่านในแอพฯมากกว่าในหนังสือ เพราะอ่านหนังสือแล้วรู้สึกง่วง หากบรรยายไม่ดีจะน่าเบื่อ ส่วนในจอยลดาเป็นประโยคสั้นๆ มีมุขตลกที่ทันสมัย ทำให้รู้สึกเพลินเวลาอ่าน ที่สำคัญคือการอ่านในแอพฯสะดวกกว่า เพราะต้องเดินทางหรือออกข้างนอกบ่อย การอ่านในโทรศัพท์จึงสะดวกมากกว่า  ส่วนเรื่องพฤติกรรมการอ่าน เธอบอกว่า ในหนึ่งวันใช้เวลาอ่านนิยายในแอพฯจอยลดาประมาณ 2 – 3 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่การอ่านแบบบรรยายต้องใช้จินตนาการ ต้องมีสมาธิในการอ่าน และกล่าวถึงระบบค้นหานิยายของแอพฯ ว่า ในส่วนนี้ยังใช้งานได้ไม่ค่อยดีนัก หากสามารถปรับการค้นหาให้ระบุได้ละเอียดขึ้น เช่น สามารถเลือกได้ว่าจะนำเรื่องอัพเดตล่าสุดไว้ข้างบนสุด หรือ เรื่องที่มียอดจอยสูงไว้ด้านบนได้ ก็จะสะดวกและช่วยให้เลือกนิยายที่ต้องการอ่านได้ง่ายขึ้น

สำหรับอนาคตทางแอพฯจอยลดา ได้มีการวางแผนเพื่อพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆให้เข้ากับกลุ่มผู้ใช้งานให้ตรงกับความต้องการมากที่สุด และในตอนนี้ได้มีการขยายตัวแอพพลิเคชั่นไปในต่างประเทศ ที่เปิดตัวไปแล้วคือแอพฯจอยลดาเวอร์ชั่นอินโดนีเซีย และในอนาคตก็จะขยายไปในประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียต่อไป

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้พฤติกรรมการอ่านของคนเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน การเข้ามาของเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ “นักอ่าน” ในยุคนี้มีทางเลือกในการอ่านมากขึ้น ทั้งคนที่ชอบอ่านในหนังสือและคนที่ชอบอ่านผ่านออนไลน์ การเลือกอ่านแบบไหนขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน ไม่สามารถตัดสินได้ว่าการอ่านแบบไหนดีกว่ากัน แต่สิ่งที่สำคัญคือ “เสน่ห์” ของการอ่านน่าจะอยู่ที่สำนวนภาษาของผู้แต่งเสียมากกว่า ที่ไม่ว่าอยู่ในรูปแบบใด การอ่านก็คือการอ่าน และการอ่านที่สนุกคือการอ่านในสิ่งที่เราชอบ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ