ฟื้นฟูฟุกุชิมะยังไม่สำเร็จ! รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมร่างแผนฯ 5 ปี ฉบับใหม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เตรียมทำแผนฯ 5 ปีฉบับใหม่ ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น หวังช่วยฟื้นฟูต่อเนื่องเหตุสึนามิและภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะปี 54 พบเพิ่มประเทศฝั่งตะวันตกเริ่มตระหนักภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตั้งเป้างดใช้ในอีก 10 ปี ส่วนจีนไม่สน! หันมาสร้างเตาปฏิกรณ์มากขึ้น



วันนี้ (11 มี.ค. 58) นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น เผยในโอกาสครบรอบ 4 ปี เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 54 ว่า รัฐบาลกำลังเร่งร่างแผนฟื้นฟูระยะ 5 ปี ฉบับใหม่ โดยจะหารือกับรัฐบาลท้องถิ่นให้ทันฤดูร้อนนี้ หลังแผนฟื้นฟูความสูญเสียจากเหตุการณ์สึนามิ และภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ฉบับปัจจุบัน จะครบกำหนดในเดือน มี.ค. ปี 59


นายอาเบะ กล่าวต่อว่าหลายพื้นที่ของ จ.ฟุกุชิมะ ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูปรับปรุงอีกมาก โดยเฉพาะพื้นที่ในรัศมี 20 กม.จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกปล่อยร้าง ทั้งนี้ ในแผนฟื้นฟูฯ ฉบับใหม่ รัฐบาลยังคงรับหน้าที่หลักในการจัดการน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี ที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ รวมถึงการบริหารจัดการเพื่อเลิกใช้โรงไฟฟ้าแห่งนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ โดยทำให้โรงไฟฟ้าระเบิดและเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวมากถึง 15,889 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาทางเศรษฐกิจกว่า 2.35 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7.5 แสนล้านบาท ยังส่งผลให้ญี่ปุ่นปิดการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในประเทศเกือบทั้งหมดจนถึงทุกวันนี้


ยกเว้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่งแรก ในทากาฮามะและเซนไดซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ ที่รัฐบาลได้อนุมัติให้เปิดเตาปฏิกรณ์อีกครั้งในปีนี้ โดยนายอาเบะ ยืนยันว่า จำเป็นต้องกลับมาพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ แต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วยที่จะเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้ง เพราะพิสูจน์แล้วว่านิวเคลียร์ไม่ใช่พลังงานที่ปลอดภัย และสามารถก่อหายนะร้ายแรงได้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บทเรียนภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ รวมถึงภัยพิบัติและอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่ผ่านมาในอดีต ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปตะวันตก อย่าง อิตาลี เยอรมนี สเปน เบลเยียม หันมาตระหนักถึงอันตรายจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์ และเริ่มลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ เช่น รัฐบาลเยอรมันประกาศปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดในประเทศภายในปี 2565 แต่ความต้องการใช้พลังงานที่มากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงความพยายามในการลดปัญหาโลกร้อน ทำให้อีกหลายประเทศยังสนใจพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ เช่น ประเทศจีนที่กำลังหันมาสนใจลงทุนในพลังงานนิวเคลียร์ เห็นได้จากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงแผนที่จะสร้างเพิ่มเติม เพราะมีความต้องการใช้พลังงานสูง รวมถึงต้องการลดมลภาวะทางอากาศ และหมอกควันจากการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ