หยุดทำ!! ถ้าไม่อยากถูกล้วงข้อมูล ผ่าน “เฟซบุ๊ก”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากข่าวที่ เฟซบุ๊ก ระบุว่า มีจำนวนผู้ใช้งานถูกบริษัทที่ปรึกษา “เคมบริดจ์ อนาลิติกา” ในอังกฤษ ซึ่งทำงานให้กับทีมหาเสียงของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2016 ล้วงข้อมูลว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 87 ล้านคน มากกว่าตัวเลขที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่าน่าจะมีผู้ถูกล้วงข้อมูลราวๆ 50 ล้านคน

ข้อมูลดังล่าวระบุว่า ผู้ใช้งานที่ถูกล้วงข้อมูลไปใช้หาประโยชน์ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ ขณะที่ผู้ใช้งานนอกสหรัฐฯที่ถูกล้วงข้อมูลจากบริษัทดังกล่าวมีประมาณ 16 ล้านคน ซึ่งรวมถึงอังกฤษที่คาดว่าจะมีผู้ถูกล้วงข้อมูลไปประมาณ 1.1 ล้านคน ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ คณะกรรมาธิการพาณิชย์ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ  เปิดเผยว่า มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเฟซบุ๊ก จะเข้าชี้แจงกรณีดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการในวันที่ 11 เม.ย.นี้ (เฟซบุ๊ก พบมีผู้ถูกล้วงข้อมูลเกือบ 90 ล้านคน )

ประเทศไทยล่าสุดมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเท่าไหร่?

ตามข้อมูลที่เผยแพร่ โดย “We Are Social” ดิจิทัลเอเยนซี่ และ “Hootsuite” ผู้ให้บริการระบบจัดการ Social Media และ Marketing Solutions ในเดือน ก.พ.61 ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 4,000 ล้านคนทั่วโลก จากจำนวนประชากรทั้งหมด 7,593 ล้านคน

ขณะที่การใช้งานเฟซบุ๊กทั่วโลกอยู่ที่กว่า 2,167 ล้านคน ซึ่งประเทศไทย มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 51 ล้านคน แบ่งเป็นผู้หญิง 49% และผู้ชาย 51% จากยอดผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทย พบว่า 90% เข้าผ่าน “Mobile Device”

นอกจากนี้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมากเป็นอันดับ 1 ของโลก อยู่ที่ 22,000,000 คน อันดับ 2 ธากา (บังคลาเทศ) 20,000,000 คน อันดับ 3 เบกาซิ (อินโดนีเซีย) 18,000,000 คน อันดับ 4 จาการ์ต้า (อินโดนีเซีย) 16,000,000 คน และอันดับ 5 เม็กซิโก ซิตี้ 14,000,000 คน

ที่สำคัญ “ประเทศไทย” เป็นประเทศที่ใช้เวลาต่อวันอยู่กับอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก (รวมทุกอุปกรณ์) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน และถ้าวัดเฉพาะการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนไทยเป็นประเทศที่ใช้เวลาท่องเน็ตต่อวันมากที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 56 นาที

จากข้อมูลข้างต้นพบว่า คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตและเฟซบุ๊กติดอันดับต้นๆ ของโลก แล้วมีวิธีอย่างไรให้รอดพ้นจากการถูกล้วงข้อมูล ?

นายณัฐ พยงค์ศรี นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า วิธีป้องกันที่ดีที่สุดจากการถูกล้วงข้อมูลเฟซบุ๊ก คือ การเลิกใช้งานเฟซบุ๊ก แต่ถ้ายังทำใจเลิกใช้งานไม่ได้ก็ต้องทำใจที่อาจถูกล้วงข้อมูล เนื่องจากการใช้งานเฟซบุ๊กมีการขายข้อมูล หรือที่เรียกว่า Third party (เติร์ด ปาร์ตี้) หรือบุคคลที่สามที่เข้ามาร่วมใช้ข้อมูล ยกตัวอย่าง แอพพลิเคชั่นดูดวง เมื่อเรากดเข้าไปใช้งานจะมีการถามว่าอนุญาตให้ใช้ข้อมูลหรือไม่ ถ้าเรากดว่าอนุญาต เจ้าของแอพพลิเคชั่นดังกล่าวก็จะได้ข้อมูลส่วนตัวที่เรากรอกไว้ในเฟซบุ๊กไป

การป้องกันเบื้องต้น หากไม่ต้องการให้แอพพลิเคชั่นทั้งหลายนำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้งานได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากเราเป็นผู้กดอนุญาตเอง คือ ต้องไม่ใช้งาน หากอยากใช้งานก็ต้องอ่านข้อมูลต่างๆ ให้ละเอียด เพื่อลดความเสี่ยงการถูกล้วงข้อมูล

“หากชอบใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ให้บริการอยู่บนเฟซบุ๊ก ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกล้วงข้อมูลส่วนตัว 60-70 %” นายณัฐ กล่าว

นายณัฐ กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมีโอกาสถูกล้วงข้อมูลส่วนตัว ประกอบด้วย การกดเข้าใช้งานแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมต่อกับเฟซบุ๊ก รวมทั้งเวลาที่ใช้งานอยู่บนเฟซบุ๊ก เพราะยิ่งใช้งานอยู่บนเฟซบุ๊กเป็นเวลานานก็มีโอกาสที่จะกดเข้าใช้งานมาก

สำหรับคำแนะนำในการใช้งานเฟซบุ๊กให้ปลอดภัย นายณัฐ กล่าวว่า พยายามอย่าเชื่อมต่อเฟซบุ๊กกับบริการอื่นๆ เพราะมีโอกาสที่ข้อมูลจะถูกล้วง เช่น การใช้เฟซบุ๊กล็อกอินเข้าใช้งานเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ หากสังเกตจะพบว่า เมื่อเราใช้เฟซบุ๊กล็อกอินเข้าเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ เมื่อเราเข้าดูข้อมูลของสินค้าใด จะพบว่า จะเห็นโฆษณาของสินค้านั้นต่อเนื่อง เป็นเพราะเว็บไซต์นั้นๆ ได้ข้อมูลส่วนตัวบางอย่างของเราไปแล้ว

รวมทั้ง อย่าพยายามใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ บนเฟซบุ๊ก เช่น แอพพลิเคชั่นดูดวง แอพพลิเคชั่นแต่งหน้า แอพพลิเคชั่นเกมทายคำถาม เป็นต้น เพราะอาจกดอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลโดยไม่รู้ตัว ส่วนการรับข้อมูลข่าวสารผ่านทางอีเมลจะต้องพยายามไม่เชื่อมต่อผ่านเฟซบุ๊ก เพราะอาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวถูกล้วงได้เช่นกัน

 

ขอบคุณภาพจาก AFP

ขอบคุณข้อมูลจาก DIGITAL IN 2018

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ