ธนารักษ์เผยยอดจ่ายแลกเหรียญ ร.10 สูงสุดเป็นประวัติการณ์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมธนารักษ์ ระบุ ยอดจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยช่วงหลังสงกรานต์จะเปิดให้แลกแบบครบชุดซึ่งจะมีเหรียญ 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ 1 สตางค์ด้วย

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ยอดเบิกจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปิดให้แลกเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา พบว่าประชาชนรายย่อยสนใจมาแลกเหรียญทั่วประเทศ 16.7 ล้านเหรียญ คิดเป็นมูลค่าเงินประมาณ 33.5 ล้านบาท ถือเป็นยอดการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยประชาชนให้ความสนใจมาต่อคิวแลกยังหน่วยรับและจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์จำนวนมาก ทั้งในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล และศูนย์บริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ของกรมธนารักษ์ในต่างจังหวัดทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ การที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากนั้น เนื่องจากต้องการเก็บเหรียญล็อตแรกไว้เป็นที่ระลึก หรือนำไปบูชา ซึ่งยอดจ่ายแลกในวันแรกส่วนใหญ่เป็นของประชาชนรายย่อย เพราะผู้ค้ารายใหญ่ และร้านสะดวกซื้อ ส่วนใหญ่แจ้งว่าจะมารับในวันที่ 9 เมษายนนี้

นอกจากนี้ในช่วงหลังสงกรานต์จะมีการจัดทำชุดครบ 9 เหรียญ ประกอบด้วยเหรียญชนิดราคา 10 บาท 5 บาท 2 บาท 1 บาท 50 สตางค์ 25 สตางค์ 10 สตางค์

5 สตางค์ และ 1 สตางค์ เพื่อให้ประชาชนที่สนใจซื้อเก็บไว้ เนื่องจากเหรียญตั้งแต่ 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ 1 สตางค์นั้น ไม่ได้เปิดให้ประชาชนแลกเป็นการทั่วไป เพราะเป็นเหรียญใช้ในทางด้านบัญชีเท่านั้น

ธปท.แนะ 8 วิธีสังเกตธนบัตร ร.10 ป้องกันการปลอมแปลง

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทำโปสเตอร์แนะนำวิธีสังเกตธนบัตรแบบใหม่ที่เพิ่งออกใช้ เพื่อระมัดระวังบุคคลไม่หวังดีคิดทำธนบัตรปลอม ซึ่งธนบัตรแบบ 17 นี้ ภาพประธานด้านหน้าเป็นพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และด้านหลัง จะเป็นพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี จุดสังเกตในธนบัตรนั้นมีอยู่ 8 แห่ง ประกอบด้วย

1.ลวดลายเส้นนูน ภาพตราประจำพระองค์ฯ คำว่า "รัฐบาลไทย" ตัวอักษรและตัวเลขแจ้งชนิดราคาจะรู้สึกสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ

2. ลายน้ำ พระสาทิสลักษณ์และตัวเลขแจ้งชนิดราคามีความโปร่งแสงเป็นพิเศษ มองเห็นได้ชัดเจนทั้งสองด้านเมื่อยกส่องกับแสงสว่าง

3. ภาพซ้อนทับ รูปพระครุฑพ่าห์ด้านหน้าและด้านหลังพิมพ์ในตำแหน่งที่ตรงกัน เมื่อยกธนบัตรส่องกับแสงสว่างจะซ้อนทับกันสนิท

4. หมึกพิมพ์ชนิดพิเศษ ชนิดราคา 100 บาท ลายดอกประดิษฐ์จะเห็นเป็นประกายเมื่อพลิกธนบัตรไปมา

5. แถบสี ฝังในเนื้อกระดาษมีบางส่วนของแถบปรากฏให้เห็นเป็นระยะ เมื่อเปลี่ยนมุมมองจะเปลี่ยนสี และชนิดราคา 100 บาทจะเห็นภาพเคลื่อนไหว ภายในแถบมีข้อความบอกชนิดราคา สามารถอ่านได้เมื่อยกส่องกับแสงสว่าง

6. ตัวเลขแฝง ตัวเลขแจ้งชนิดราคาซ่อนไว้ในลายประดิษฐ์ มองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง

7. สำหรับผู้บกพร่องทางสายตา รูปดอกไม้พิมพ์ด้วยลวดลายเส้นนูน แทนสัญลักษณ์แจ้งชนิดราคาในอักษรเบรลล์ จะรู้สึกนูนสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ

และ 8. ลักษณะพิเศษภายใต้รังสีเหนือม่วง (UV) ลายประดิษฐ์บริเวณตอนกลางธนบัตร ตัวเลขแจ้งชนิดราคาและหมวดเลขหมายจะเรืองแสง ปรากฏเส้นใยเรืองแสงสีเหลือง แดง และน้ำเงิน ในเนื้อกระดาษ

ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุอีกว่า ประชาชนยังคงทยอยมาแลกธนบัตรตามสถาบันการเงินที่เปิดให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนธนบัตรทุกแบบที่ออกใช้ก่อนหน้านี้ยังสามารถใช้ได้ตามปกติ โดยไม่มีการยกเลิกแต่อย่างใด

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ