7 ปี ซีเรียจากสงครามกลางเมืองสู่สมรภูมิรบของชาติมหาอำนาจ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




7 ปี ที่ผ่านมา สงครามกลางเมืองซีเรีย คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 250,000 คน และกว่า 12 ล้านคนกลายเป็นคนไร้บ้านต้องอพยพลี้ภัย แต่สุดท้ายการก้าวเข้ามามีส่วนร่วมของชาติยักษ์ใหญ่อย่าง สหรัฐฯ และรัสเซีย กลับมาถึงจุดที่ใช้พื้นที่นี้แสดงแสนยานุภาพ หลายคนจึงวิตกกังวลว่าความขัดแย้งครั้งนี้ อาจบานปลายจนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3

หลังมีรายงานว่า ประธานาธิบดีซีเรีย บาชาร์ อัล อัสซาด ใช้อาวุธเคมีก๊าซคลอรีนโจมตีเมืองดูมา ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มกบฎในเขตกูตาตะวันออก ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 ราย ทำให้ วันที่ 7 เมษายน 2561 นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งอนุมัติการยิงขีปนาวุธถล่ม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้รัฐบาลซีเรียหยุดใช้อาวุธเคมี

จากนั้นวันที่ 12 เมษายน 2561 ทรัมป์ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า จะยิงขีปนาวุธตอบโต้รัฐบาลซีเรียที่ใช้อาวุธเคมีสังหารประชาชนและยังเชื่อว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลังการใช้อาวุธดังกล่าว

วันที่ 13 เมษายน 2561 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งการโจมตีซีเรียทางอากาศ

เป้าหมายคือที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับอาวุธเคมี ได้แก่ ศูนย์วิจัยอาวุธเคมีในกรุงดามัสกัส และคลังเก็บอาวุธเคมีใกล้เมืองฮอมส์ ของกองทัพรัฐบาลซีเรีย โดยระบุว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นปฏิบัติการร่วมของกองทัพสหรัฐฯ ร่วมกับ กองทัพฝรั่งเศสและอังกฤษ

ชนวนสำคัญที่ทำให้วันนี้ซีเรียเหลือแต่ซากปรักหักพัง ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย ไร้ที่อาศัย ทั้งเด็ก ผู้หญิง หรือคนชรา ก็มาจากสงครามกลางเมืองเมื่อ 7 ปี ก่อน

ปี 2011 ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด สั่งปราบม็อบอาหรับสปริงในซีเรีย ซึ่งออกมาชุมนุมประท้วงให้ลงจากตำแหน่ง จนลุกลามกลายเป็นความวุ่นวายทางการเมืองและเกิดการต่อสู้รุนแรงก่อนที่จะมีกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นมากมายและออกมาสู้รบเพื่อแย่งชิงอำนาจ

แต่ที่เขย่าโลกมาที่สุด คือ ในปี 2014 เกิดกลุ่มไอเอส ทำให้สงครามซีเรีย ยกระดับอีกขั้น เพราะนอกจากต้องการต่อสู้กับกลุ่มกบฎซีเรียและกองกำลังชาวเคิร์ดเพื่อก่อตั้งดินแดนคาลิเฟต (Caliphate) ในซีเรีย แล้ว กลุ่มไอเอสยังปฏิบัติการก่อการร้ายหลายครั้งทั้งในสหรัฐฯและยุโรป

ทวีความรุนแรงในซีเรียให้ระอุขึ้นไปอีก เมื่อสหรัฐฯ มุ่งเป้าโจมตีซีเรียเพื่อปราบกลุ่มไอเอสด้วย

ปี 2018 กองทัพรัฐบาลซีเรียกลับมาได้เปรียบเพราะมีกำลังภาคพื้นดินของอิหร่านแฝงตัวเข้ามาเพื่อสนับสนุนกองทัพ แถมยังมีการสนับสนุนทางอากาศจากรัสเซียอีกด้วย ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด จึงสามารถยึดพื้นที่คืนจากกลุ่มกบฎและกลุ่มก่อการร้ายได้เกือบหมด เข้าใกล้สู่ชัยชนะในสงครามที่ยาวนานนี้มากยิ่งขึ้น เหลือเพียงจัดการกับกลุ่มกบฏเล็กน้อยที่เหลืออยู่ให้สิ้นซาก

แต่ก็ต้องมาเจอกับการโจมตีขีปนาวุธครั้งรุนแรง จากสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 13 เมษายน อีก โดยระบบป้องกันของกองทัพซีเรีย สามารถยับยั้งการโจมตีของขีปนาวุธได้มากถึง 71 ลูกจากทั้งหมด 103 ลูกที่พุ่งเข้ามาที่สำคัญในครั้งนี้ ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสได้จับมือเป็นพันธมิตรร่วมในการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายในซีเรีย โดยทั้งสองประเทศมองว่าเป็นหน้าที่เนื่องจากเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเป็นพันธมิตรอันใกล้ชิดกับสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ให้สัมภาษณ์ว่าการตอบโต้ที่ซีเรียใช้อาวุธเคมีเข่นฆ่าประชาชนของตัวเองเป็นการตอบโต้อย่างชอบธรรม ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ไม่ใช่การทำสงครามเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีบาร์ชา อัล อัสซาด และไม่ใช่การแทรกแซงสงครามกลางเมืองในซีเรียอย่างแน่นอน

ขณะที่ ทางฝั่งของอังกฤษ เมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่ผ่านมา นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กองทัพเรือส่งเรือดำน้ำติดอาวุธเป็นจรวจโทมาฮอว์คจำนวนหนึ่ง ไปประจำการบริเวณน่านน้ำของซีเรีย และยังกล่าวอีกว่าสหราชอาณาจักรจะไม่ยอมให้มีการใช้อาวุธเคมีโดยปราศจากมาตราการตอบโต้อีกต่อไป

แต่ซีเรียก็มี“รัสเซีย”หนุนหลังอยู่เต็มกำลัง

โดยรัสเซียส่งกองทัพอากาศเข้าช่วยรัฐบาลซีเรีย เป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ และช่วยพลิกเกมให้อัสซาดกลับมาได้เปรียบอย่างรวดเร็ว แม้ว่าท่าทีที่นิ่งเฉยต่อการโจมตีทางอากาศรอบล่าสุดของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ถือว่าเป็นการกลืนน้ำลายตัวเองก็ตาม แต่เพราะปูตินทราบดีว่าการตอบโต้โดยตรงจะยิ่งทำให้ชาติตะวันตกมีข้ออ้างในการใช้กำลังทหารมากกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก

สุดท้าย .... คู่ต่อสู้กลายเป็น“สหรัฐฯ” กับ “รัสเซีย”

วันนี้แม้โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะออกมาทวีต “ชื่นชมยินดีพร้อมขอบคุณฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ที่เข้าร่วมใน "ปฏิบัติการโจมตีแบบไร้ที่ติ" แต่ก็พร้อมโจมตีอีกถ้าซีเรียยังใช้อาวุธเคมี เท่ากับยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าขีปนาวุธจะถูกส่งไปโจมตีซีเรียอีกเมื่อไหร่ รวมถึง ผลพวงจากการเตรียม ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษกิจต่อรัสเซียครั้งใหม่ โดยจะพุ่งเป้าไปที่หน่วยงานและกลุ่มบุคคลที่สนับสนุนโครงการอาวุธเคมีของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด ของซีเรียจะเป็นชนวนอีกลูกหรือไม่ เพราะฝั่งประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ก็ออกมาเตือนสหรัฐฯ ดังๆ  ว่า โลกอาจยิ่งวุ่นวายมากขึ้น หากสหรัฐฯและชาติพันธมิตรยังไม่หยุดพฤติกรรมคุกคามซีเรีย

คำว่า “สงคราม” อาจจะยังดูห่างไกลจากสถานการณ์ตอนนี้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสบานปลายหากทั้งสองฝ่ายยังคงห่ำหั่นโดยมีประเทศพันธมิตร ที่ค่อยๆออกมาประกาศจุดยืนเลือกข้างอย่างชัดเจนหลังการถล่มซีเรีย โดยฝั่งรัฐบาลซีเรีย มีผู้สนับสนุนรัฐบาล ซีเรียคือ รัสเซีย อิหร่าน จีน (วิเคราะห์จากการที่ให้การสนับสนุนรัสเซียในหลายด้าน) และ กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ ในเลบานอน

ส่วนฝั่งต่อต้านรัฐบาลซีเรียนอกจากสหรัฐฯ ยังมี ฝรั่งเศส  อังกฤษ ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี  จอร์แดน ชาวเคิร์ดในซีเรีย และ 9 กองทัพปลอดปล่อยซีเรีย

สำหรับ ประเทศไทย ฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบและเชื่อว่าจะไม่ลุกลามไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 แต่อาจมีผลต่อราคาน้ำมันและตลาดหุ้น

ภาพ เอเอฟพี

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ