ตรวจสอบจุดพบ “ฉลาม” ธรรมชาติสมบูรณ์ คาดเป็นแหล่งหากิน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตรวจสอบสภาพทะเลบริเวณวัดถ้ำเขาเต่า หลังเจ้าอาวาสวัดเผยแพร่คลิปพบฝูงฉลาม  ด้านเจ้าอาวาสระบุพบฉลามมานานกว่า 3 เดือน และบางวันฝูงฉลามว่ายวนหลายสิบตัว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คลิปวิดีโอที่ ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ แดง จิตต์วารินทร์ ไลฟ์สดขณะฉลามกำลังว่ายวนอยู่บริเวณชายฝั่งหมู่บ้านเขาเต่า ติดกับวัดถ้ำเขาเต่า  ในคลิปเห็นฉลามอย่างน้อย 4-5 ตัว ว่ายไปมา ผู้ใช้เฟซบุ๊กระบุว่าบริเวณชายหาดหมู่บ้านเขาเต่า มีฉลามหลายสิบตัว ลักษณะคล้ายฉลามหูดำ อาจจะเป็นต้นเหตุที่ทำร้ายนักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ ทำให้เมื่อวานนี้นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสภาพท้องทะเลบริเวณดังกล่าว และสอบถามข้อมูลจากพระครูบุญญาภิราม หรือพระอาจารย์แดง เจ้าอาวาสวัดถ้ำเขาเต่า บอกว่า พบฉลามวนเวียนอยู่ตามชายฝั่ง และโขดหิน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยมักจะเห็นช่วงเย็นถึงค่ำ

 

ขณะที่บางวันที่น้ำนิ่ง หรือน้ำขึ้นเยอะเคยเห็นฝูงฉลามว่ายน้ำประมาณ 40-50 ตัว โดยเข้ามากินปลาเล็ก ๆ ตามโขดหิน ซึ่งก็ไม่ได้แปลกใจอะไร กระทั่งมีนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บขณะเล่นน้ำ โดยลักษณะคล้ายฉลามหูดำ หรือ ฉลามครีบดำ ความยาวประมาณ 2 เมตร ส่วนอาการของนักท่องเที่ยวชาวนอร์เวยย์นั้น มีบาดแผลฉีกขาดที่เท้าด้านซ้าย แพทย์ได้เย็บบาดแผล 19 เข็ม แต่ไม่พบการติดเชื้อ ขณะนี้อาการดีขึ้นมากแล้ว

 

ด้าน นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่าการตรวจสอบฉลามในคลิปเป็นฉลามหัวบาตร ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นเขตอภัยทานใกล้กับหาดทรายน้อย เขตพระราชฐาน จึงไม่ถูกรบกวนจากการทำประมง ทำให้ธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์  จึงเป็นไปได้ว่าฉลามเข้ามาหากินบริเวณดังกล่าว 

เบื้องต้นทาง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำชับให้ติดตั้งป้ายประกาศเตือนนักท่องเที่ยวห้ามเล่นน้ำบริเวณหน้าวัดถ้ำเขาเต่า พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง และในวันศุกร์ที่ 20 เมษายนนี้ ทางอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะลงพื้นที่หารือแนวทางป้องกันในระยะยาว โดยอาจวางอวนกั้นเขตทะเล

สอดคล้องกับข้อมูลของสัตวแพทย์หญิง วัชรา ศากรวิมล นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง ระบุว่า ได้สอบถามข้อมูลกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านฉลามจากกรมประมง โดยดูจากภาพบาดแผล เทียบเคียงกับคลิปวีดีโอที่บันทึกภาพฉลามได้ที่หน้าวัดถ้ำเขาเต่า และตรวจสอบพื้นที่สภาพแวดล้อมจุดเกิดเหตุ พบว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นฉลามหัวบาตร

ทั้งนี้ตั้งสมมติฐานการกัดในครั้งนี้ไว้ 2 อย่างคือ กัดเพราะความตกใจ ด้วยฉลามมีพฤติกรรมระวังภัย อาจเป็นไปได้ว่า นาทีที่นักท่องเที่ยวกระโดดน้ำและเป็นจังหวะเดียวกันกับที่ฉลามว่ายน้ำผ่านมาพอดี หรืออาจเป็นเพราะจังหวะที่นักท่องเที่ยวอยู่ในน้ำแล้วฉลามว่ายผ่าน และเข้าใจว่านักท่องเที่ยวเป็นอาหารจึงมีพฤติกรรมงับ เพื่อเช็คเหยื่อว่าสามารถกินได้หรือไม่ แต่เชื่อว่าไม่ใช้พฤติกรรมการกัดเพราะต้องการทำร้าย เพราะหากกัดในลักษณะทำร้ายจะเป็นการกัดที่รุนแรงมากกว่านี้ หรือมีการกัดพร้อมกันหลายตัว

สำหรับฉลามหัวบาตรเป็นฉลามที่อันตรายติด 1 ใน 3 ของสายพันธุ์ฉลาม พบได้ทั่วโลกมักอาศัยอยู่ตามโขดหิน แต่สามารถเข้ามาน้ำตื้นได้เพราะตัวไม่ใหญ่  ในประเทศไทยเคยมีรายงานฉลามหัวบาตรกัดนักท่องเที่ยวเมื่อปี 2558 ที่หาดกะรน จังหวัดภูเก็ต

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ