หยุดเชื่อ!! หน้าใส-หุ่นดี-สวยหล่อใน 7 วัน เช็ก อย.ก่อนตัดสินใจซื้อ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ไปดูความต่างระหว่างเลข อย.กับเลขจดแจ้งที่อยู่บนผลิตภัณฑ์ความงามในโลกออนไลน์ เพื่อตรวจสอบก่อนเสียทั้งเงินและสุขภาพ รวมถึงมุมมองของนักกฎหมาย กรณี ศิลปิน ดารา ที่นิยมมาเป็นพรีเซนเตอร์ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียโดยแนะนำว่าควรตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนรับงานโฆษณา

ด้วยปริมาณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เสริมความงาม ที่มีจำนวนมากในโลกออนไลน์ และข่าวการบุกทลายแหล่งผลิตเถื่อนมูลค่าหลานร้อยล้านบาท เคสของผู้เสียหาย รวมถึงโฆษณาชวนเชื่อที่มีดารานักแสดงเป็นพรีเซนเตอร์ ผู้บริโภคจึงเลือกดูเพียงว่ามีเครื่องหมาย อย. จากคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อเท่านั้น โดยมองข้ามส่วนประกอบ เช่น ส่วนผสม แหล่งผลิต สรรพคุณที่อวดอ้างไป สุดท้ายจึงตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์เหล่านี้

สำหรับ เครื่องหมาย อย. เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้ผ่านการพิจารณาด้านประสิทธิภาพ คุณภาพและความปลอดภัย ตามหลักเกณฑ์การผลิต และการนำเข้า จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยได้ปฏิบัติตามกฎหมายเบื้องต้นของ อย. แล้ว

“ แต่ไม่ได้หมายความว่าได้รับอนุญาตโฆษณาสรรพคุณต่างๆ ตามที่มีการโฆษณา คือ ไม่ได้ความว่ามี อย.แล้วเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะได้ผลจริง” 

โดยกฎหมายระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง ต้องมาขอขึ้นทะเบียน หรือ ขอจดแจ้งผลิตภัณฑ์ก่อนผลิต/นำเข้า/จำหน่าย เพื่อเป็น “การคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคในเบื้องต้น” ซึ่งขอนุญาตในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ก็มีความแตกต่างกันออกไป  ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาทุกชนิดบนฉลากจะไม่มีเครื่องหมาย อย. แต่จะต้องแสดงเลขทะเบียนตำรับยา โดยลักษณะของกลุ่มตัวเลขแรกคือ ประเภทของทะเบียนตำรับยาจะเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ แล้วตามด้วยเลขทะเบียนตำรับยา (ของแต่ละตำรับยา) /ปี พ.ศ. เช่น ทะเบียนยาเลขที่ 1A 324/50เป็นต้น

ส่วนอาหาร จะมี “เลขสารบบอาหาร” เป็นเลขประจำตัวผลิตภัณฑ์ อาหาร  13 หลัก ในกรอบเครื่องหมาย อย.ถูกนำมาใช้แทนตัวอักษรและตัวเลข โดยอยู่ในกรอบเครื่องหมาย อย.แบบเดิม เลขสารบบอาหารนี้จะระบุข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสถานที่ และข้อมูลผลิตภัณฑ์อาหารครบถ้วนเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบง่ายขึ้น ซึ่ง อาหารจะมี 3 กลุ่ม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะอยู่ในกลุ่มที่ 2 คืออาหารที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน เช่น น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุปิดสนิท ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำแข็ง น้ำมันพืช อาหารกึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น

แต่กรณีเครื่องสำอางไม่ต้องมีเครื่องหมาย อย. เพราะกฎหมายใหม่กำหนดให้เครื่องสำอางทุกชนิดเป็นเครื่องสำอางควบคุม โดยฉลากไม่ต้องแสดงเครื่องหมาย อย. แต่ต้องแสดง “เลขที่ใบรับแจ้ง” โดยกำหนดให้เป็นเลข 10 หลัก เช่น 10-1-61XXXXX เป็นต้น และห้ามนำเลขที่ใบรับแจ้งมาใช้ในกรอบเครื่องหมาย อย.

แต่หลายครั้งเราก็พบว่าผู้ผลิตมักจะแอบอ้างเลขจดแจ้ง เป็นตัวรับรองความปลอดภัยและสรรพคุณของผลิตภัณฑ์

ทั้งที่แท้จริงแล้ว เลขจดแจ้ง คือ เลขบนฉลากที่บอกว่าผลิตภัณฑ์ (เครื่องสำอาง) ได้ดำเนินการจดแจ้งรายละเอียดการผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขาย หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย โดยบังคับให้แสดงข้อความที่จำเป็นต่อผู้บริโภค ได้แก่ ชื่อเครื่องสําอางและชื่อทางการค้าของเครื่องสําอาง ซึ่งต้องมีขนาดใหญ่กว่าข้อความอื่น ประเภทหรือชนิดของเครื่องสําอาง ชื่อของสารทุกชนิด ที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสําอาง ต้องแสดงทั้งหมดเรียงลําดับปริมาณของสารจากมากไปหาน้อย, วิธีใช้เครื่องสําอาง , ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต (กรณีผลิตในประเทศ) ชื่อและที่ตั้งของผู้นําเข้าและชื่อผู้ผลิต และประเทศที่ผลิต (กรณีนําเข้า), ปริมาณสุทธิ, เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต, วันเดือนปีที่ผลิต, วันเดือนปีที่หมดอายุ และ คําเตือนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพอนามัยของบุคคล และข้อมูลสุดท้ายที่สําคัญที่จะต้องแสดง “เลขที่ใบรับแจ้ง” 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ใดตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ผิดกฎหมายโดยเฉพาะผ่านเว็บไซต์ และ Social Media ให้แจ้งมาได้ที่ อย. โดยตรงทางสายด่วน อย. 1556 หรือ ร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

และเพื่อไม่เป็นกรณีวัวหายล้อมคอก เราสามารถป้องกันไว้ก่อนได้โดยการเข้าไปตรวจสอบเลขของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ที่  http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx  ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทางการของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

นักกฎหมาย แนะ ศิลปินดาราตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนรับงานโฆษณา

ส่วนประเด็นที่มีศิลปิน นักร้อง นักแสดงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ให้กับ ผลิตภัณฑ์ในเครือ “เมจิกสกิน” เช่น กันต์ กันตถาวร, ปันปัน สุทัตตา, ริต้า ศรีริต้า และดีเจวุ้นเส้น วิริฒิพา เป็นต้น รับงานโฆษณาของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จากการสอบถาม ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย แอดมินเพจ LawInspiration ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีกลุ่มดาราและบุคคลมีชื่อเสียงโฆษณาผลิตภัณฑ์เมจิกสกิน ว่า แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ประเภทผลิตภัณฑ์อาหารเสริม กับ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ต้องดูว่าดารานักแสดงหรือผู้ที่มีชื่อเสียงไปโฆษณาให้กับผลิตภัณฑ์ตัวไหน เช่น อาหารเสริม ยาลดความอ้วน จะเข้าข่ายพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งผลิตภัณฑ์ตัวนี้ตามพ.ร.บ.อาหาร ต้องขออนุญาตจาก อย.ก่อนจึงสามารถโฆษณาได้ ถ้าทำการโฆษณาทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. จะมีความผิดตามมาตรา 41 ทันที โทษปรับ 5,000 บาท

ส่วนกรณีที่ศิลปินดาราโฆษณาเกินจริง โดยการพูดว่า กินอาหารเสริมนี้แล้วสามารถลดน้ำหนักได้ภายใน 7 วัน ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 40 ที่ระบุว่า ต้องไม่โฆษณาเกินจริงหรือหลอกลวง อันนี้จะขอหรือไม่ขออนุญาต แต่ถ้าโฆษณาแล้วเกินจริง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทว่าหากเป็นการรับโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ศิลปินดาราสามารถรับงานโฆษณาได้ แต่ต้องไม่พูดเกินจริง เนื่องจากตามคู่มือการโฆษณาเครื่องสำอาง ถ้าเป็นคนมีชื่อเสียงรับรีวิวสินค้าต้องบอกว่าได้ใช้จริง และพูดในสิ่งที่เป็นความจริงเท่านั้น ถ้าพูดหรือโฆษณาเกินจริง จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 มาตรา 41 ที่ระบุว่า ไม่โฆษณาเกินจริง หรือทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ถ้าศิลปินดารารับงานโฆษณาเครื่องสำอาง เพียงแค่ถ่ายรูปขึ้นโดยไม่มีการพูดอะไร จะถือว่าไม่มีความผิดเพราะเป็นเพียงการทำท่าทางว่าใช้แต่ได้พูดคำโฆษณาใดๆ

ดร.พีรภัทร แนะนำสำหรับดารานักแสดงหรือผู้ที่มีชื่อเสียง ซึ่งต้องการรับงานโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ว่า ควรให้ผู้จัดการตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วน รวมทั้งปรึกษานักกฎหมายให้แน่ใจก่อนว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับอนุญาตจาก อย.ถูกต้องแล้ว ส่วนการรับโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ต้องพูดในสิ่งที่เป็นความจริง เพราะรู้ตัวอยู่แล้วว่าได้ใช้จริงๆ หรือไม่ เพราะถ้าพูดในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงก็เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน เช่นเดียวกับคนทั่วไปที่รับรีวิวผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องพูดแต่ในสิ่งที่เป็นความจริงและได้ทดลองใช้จริง รวมทั้งต้องดูด้วยว่าคำพูดที่ใช้ในการรีวิวหรือโฆษณานั้นเกินจริง หรือเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่

ส่วนคำถามที่ว่า การโฆษณาของดารานักแสดงกับผลิตภัณฑ์เมจิกสกินเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือไม่ ดร.พีรภัทร กล่าวว่า ถ้าดารานักแสดงไม่รู้ข้อมูลว่ายังไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. หรือไม่รู้ข้อมูลทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ ก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.นี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ