รมว.พม.วอนอย่าโทษระบบโกงเงินคนไร้ที่พึ่งเป็นเรื่องของคน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ข้อสงสัยที่ว่า การทุจริตเงินของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งที่ถูกตรวจสอบพบเกือบทั้งประเทศ เป็นการออกแบบระบบเพื่อโกงเงินโดยเฉพาะ หรือ การทุจริตเชิงนโยบายของข้าราชการหรือไม่ วันนี้รัฐมนตรีว่ากการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตอบคำถามเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการระบุว่า หากจะยุบศูนย์เหล่านี้ทั้งประเทศ อาจจะทำให้มีคนด้อยโอกาสจำนวนมากเดือดร้อน

เมื่อวันที่ (30 เม.ย.61)  พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ยืนยันว่า การทุจริตเงินคนยากไร้ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเกือบทั่วประเทศที่ตรวจสอบพบ เกิดจากคน ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัญหาของระบบ หากมองว่าข้าราชการตั้งศูนย์หรือออกแบบระบบมาเพื่อโกงเงินงบประมาณ ก็จำเป็นต้องยุบศูนย์ทุกแห่ง ซึ่งอาจจะเป็นแนวทางที่ทำให้คนด้อยโอกาสจำนวนมากเดือดร้อน  ส่วนการสอบข้อเท็จจริงภายใน จะสามารถสรุปผลได้ภายใน1ถึง2วันนี้  เบื้องต้นยืนยันว่าไม่ได้เกิดการทุจริตทั้ง 76 ศูนย์ทั่วประเทศ

ส่วนผลสอบนายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  พลเอกอนันตพร ยังไม่ขอเปิดเผยว่า เข้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในขั้นตอนใดบ้างหรือไม่ ขอให้คณะกรรมการเป็นผู้ชี้แจงเรื่องนี้เอง

ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. วันนี้ได้ประชุมสรุปผลการทำงานเรื่องนี้ตลอด2เดือนครึ่งที่ผ่านมาว่า ตรวจสอบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งครบทั่วประเทศแล้ว พบว่ามี 67 จังหวัด เบิกเงินช่วยเหลือคนจนผิดปกติ หรือส่อไปในทางทุจริต   ด้วยวิธีการที่ศูนย์คนไร้ที่พึ่งแต่ละแห่ง ส่งเจ้าหน้าที่ไปเบิกงบที่สำนักงานการคลังจังหวัด ซึ่งถูกส่งมาจากกรมพัฒนาสังคมฯ แล้วค่อยมากำหนดจำนวนคนรับเงินทีหลัง

โดยขั้นตอน เริ่มจากปลายปี 2559 กำหนดหาหมู่บ้านเพื่อจะเข้าไปเอารายชื่อชาวบ้านมาสวมสิทธิ์  จากนั้นต้นปี 2560 ส่งเจ้าหน้าที่ไปประสานงานกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบล หรือ รพ.สต. ว่าจะมีการอบรมให้ความรู้เรื่องคนเร่รอน และในขั้นตอนนี้ก็มีการขอความร่วมมือให้ทาง รพ.สต.ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านมาร่วมอบรม ให้ รพ.สต.เก็บรวบรวมลายเซ็นและสำเนาบัตรประชาชนชาวบ้าน ส่งไปยังศูนย์คุ้มครองฯ  และขั้นสุดท้ายก็นำเอกสารที่ได้ ไปปลอมแปลงว่า กลุ่มชาวบ้านที่เข้าอบรมนั้น เป็นคนไร้ที่พึ่ง  โดยรูปแบบนี้เกิดขึ้นเหมือนกันทุกศูนย์ และพบว่ามีข้าราชการระดับผู้บริหารในกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทุจริตทุกจังหวัด จึงเห็นชัดเจน ว่า เป็นการเจตนาโอนงบลงไปที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเพื่อทำการอย่างอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับช่วยเหลือคนจน

ส่วนพื้นที่ที่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าทุจริตเงินศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่พบการทุจริต เพราะยังอาจจะเป็นเพียงแค่การตรวจสอบไม่พบหลักฐาน มีด้วยกัน 9 จังหวัด คือ นนทบุรี  ฉะเชิงเทรา  ปราจีนบุรี  สิงห์บุรี  แพร่  นครสวรรค์ สุโขทัย  อุตรดิตถ์ และนครศรีธรรมราช โดย ใน 67 จังหวัดที่ส่อทุจริต คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 129 ล้านบาท มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง 189 ราย

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ