เสียเงินแล้วยังต้องเสี่ยง!! สั่งของออนไลน์ได้ไม่ตรงปก!!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ยังคงมีข่าวคราวออกมาให้เห็นต่อเนื่องกับการสั่งซื้อของออนไลน์แล้วได้ของไม่ต้องตามที่สั่ง ล่าสุด มีผู้ออกมาร้องเรียนว่าสั่งซื้อไอโฟนแต่ได้ของเป็นกระปุกยาใส่ก้อนหิน

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 8 พ.ค.61 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี ได้รับแจ้งจากนายอภิวัตร ดาสาลี อายุ 30 ปี ได้เดินทางเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังสั่งซื้อโทรศัพท์มือถือยี่ห้อไอโฟน รุ่น 5 เอส ผ่านเว็บไซต์หนึ่งจากนั้นได้โอนเงินจำนวน 1,900 บาท ให้กับเจ้าของสินค้าที่หมายเลขบัญชีธนาคารของ น.ส.ลลิตา คงนุ่น แต่สินค้าที่ได้รับกลับเป็นกระปุกยาจำนวน 2 กระปุกภายในบรรจุก้อนหินไว้

นายอภิวัตร  ผู้เสียหายเล่าว่า ผู้ที่โพสต์ขายของอ้างว่าอยู่ จ.กาญจนบุรี  หลังจากตกลงซื้อแล้วผู้โพสต์ได้ส่งสลิปการส่งของ รูปกล่องสินค้า บัตรประชาชนพร้อมหน้าสมุดบัญชีมาให้ดูจึงไม่คิดว่าโดนหลอก แต่เมื่อเช็กแทรกกิ้ง นัมเบอร์ หรือหมายเลขยืนยันการลงทะเบียนส่งของ กลับพบว่าของถูกส่งมาจาก อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี แทน

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งความไว้ และจะทำการออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีเพื่อเข้าให้ปากคำ ถ้ายังไม่เข้ามาพบจะดำเนินขั้นตอนตามกฎหมาย  และเตือน ประชาชนอย่าหลงเชื่อการขายของราคาถูก จะถูกมิจฉาชีพหลอกลวง

แนะเลือกช้อปจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือเท่านั้น!!

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ แนะนำผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ ว่า ขอให้ระมัดระวังและเลือกซื้อสินค้าจากเฉพาะเว็บไซต์หรือแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยควรหลีกเลี่ยงสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น สินค้าบริโภค อาหาร ยา สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย หรือความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนการดาวน์โหลดหรือสตรีมมิ่งภาพยนตร์หรือเพลงละเมิดจากเว็บไซต์ต่างๆ อาจมีไวรัส หรือมัลแวร์ ที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์เสียหาย หรืออาจโดนโจรกรรมข้อมูลสำคัญได้

สำหรับผู้จำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ แนะนำให้นำสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานหรือสินค้าที่ไม่มีการละเมิดมาจำหน่าย หรือให้ดาวน์โหลดทางอี-คอมเมิร์ซ และที่สำคัญจะต้องตรวจสอบที่มาของสินค้าที่นำมาจำหน่ายด้วยว่ามาจากผู้ผลิตที่เชื่อถือและตรวจสอบได้หรือไม่ เพื่อป้องกันการจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่รู้ตัว เพราะหากถูกตรวจสอบและถูกจับกุมจะมีความผิดเช่นเดียวกับการขายตามร้านค้าทั่วไป ( อ่านข่าว : พาณิชย์ เตือนช้อปออนไลน์ระวังตกเป็นเหยื่อของปลอม )

การซื้อสินค้าออนไลน์ติด 1 ใน 5 กิจกรรมของคนใช้เน็ต

ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2560 พร้อมสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยปี 2559 และการคาดการณ์มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยปี 2560 ระบุว่า ยอดการซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์เติบโตต่อเนื่อง

จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปี 2560 มีประชาชนผู้ตอบแบบสำรวจรวม 25,101 คน ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2560 พร้อมศึกษาถึงพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตและการซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ ทั้งยังให้ระบุถึงปัญหาที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพบมาก ปัจจัยที่ทำให้ปฏิเสธอีคอมเมิร์ซ ปัญหาของผู้ที่เคยซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ได้รับ และวิธีการแก้ปัญหาของผู้ซื้อ

จากผลสำรวจพบว่า 61.1% จากผู้ตอบใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เฉลี่ย 3.06 ชั่วโมง/วัน 30.8% มีปริมาณการใช้เท่าเดิม และมีเพียง 8.1% ที่ใช้ลดลง เฉลี่ยที่ 2.24 ชั่วโมง/วัน ส่วนสถานที่ที่นิยมใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดยังคงเป็นที่บ้าน คิดเป็น 85.6% รองลงมาคือที่ทำงาน 52.4% ตามมาด้วยการใช้ระหว่างเดินทาง 24% เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปีก่อน ขณะที่การใช้อินเทอร์เน็ตที่สถานศึกษาลดลงจาก 19.7% เป็น 17.5% ในปีนี้ ส่วนกิจกรรมที่นิยมทำเมื่อใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การใช้โซเชียลมีเดีย (86.9%) การค้นหาข้อมูล (86.5%) การรับส่งอีเมล (70.5%) การดูทีวีและฟังเพลงออนไลน์ (60.7%) และการซื้อสินค้าออนไลน์ (50.8%)

ทั้งนี้ พฤติกรรมการซื้อสินค้าและใช้บริการทางออนไลน์ของคนไทย พบว่า ผู้บริโภคตัดสินใจเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ขายของออนไลน์จากโฆษณาและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ มากที่สุด คิดเป็น 55.9% โดยมีข้อมูลจากการรีวิวและคอมเมนต์ของผู้เคยใช้สินค้า, ส่วนลดและของแถม และอันดับของเว็บไซต์จากการค้นหาทาง Search Engine เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลรองลงมา คิดเป็น 54.9%, 47.5% และ 41.9% จากการสำรวจยังพบว่า คนส่วนใหญ่ หรือ 40.7% ยังไม่ได้ซื้อสินค้าและใช้บริการออนไลน์, 38.4% ซื้อเดือนละครั้ง, 17.7% ซื้อ 2-5 ครั้งต่อ เดือน และ 3.2% ซื้อมากกว่า 5 ครั้งต่อเดือน

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยปฏิเสธการซื้อสินค้าและใช้บริการออนไลน์ เป็นเพราะกลัวโดนหลอก (51.1%), ไม่ได้สัมผัสหรือทดลองใช้สินค้าก่อน (39.9%), ไม่พบสินค้าที่ต้องการ (33.9%) และชอบเดินเลือกซื้อสินค้าด้วยตัวเอง (31.1%) ในทางกลับกัน ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการซื้อสินค้าและใช้บริการออนไลน์ของคนไทยมากที่สุด คือขั้นตอนการซื้อที่ง่าย (85%) โดยมีปัจจัยรอง ได้แก่ การได้รับสินค้าที่สะดวกรวดเร็ว (53.4%), โปรโมชั่นที่ถูกใจผู้ซื้อ (51.4%) และราคาที่ถูกกว่าการซื้อผ่านหน้าร้าน (49.7%)

ส่วนสินค้าและบริการที่คนไทยนิยมซื้อออนไลน์มากที่สุด ประกอบด้วยสินค้าแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย (44%), สินค้าด้านสุภาพและความงาม (33.7%), อุปกรณ์ไอที (26.5%), เครื่องใช้ภายในบ้าน (19.5%), บริการสั่งอาหารออนไลน์ (18.7%), บริการเกี่ยวกับการเดินทางและท่องเที่ยว (17.9%) เป็นต้น แต่หากพิจารณาในเรื่องความถี่ในการซื้อสินค้าและใช้บริการ พบว่าในระยะเวลา 3 เดือน บริการด้านการเงินและการลงทุนเป็นประเภทบริการที่คนไทยเลือกใช้ซ้ำมากที่สุดที่ 4.8 ครั้ง รองลงมาคือบริการดาวน์โหลด 4 ครั้ง สินค้าบริการด้านความบันเทิงและด้านการเดินทางและท่องเที่ยวเท่ากันที่ 2.5 ครั้ง ตามด้วยสินค้ากลุ่มแฟชั่นและบริหารสั่งอาหาร เท่ากันที่ 2.4 ครั้ง

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุอีกว่าสินค้าและบริการในเกือบทุกกลุ่มที่คนไทยนิยมซื้อสินค้าทางออนไลน์มากที่สุดจะอยู่ในช่วงราคาไม่เกิน 1,000 บาท ยกเว้นบริการด้านการเงินและการลงทุนที่ส่วนใหญ่จะเลือกซื้อที่มูลค่ามากกว่า 10,000 บาท โดยช่องทางการชำระเงินที่มีการใช้มากที่สุดคือบัตรเครดิต (35.1%) รองลงมาคือ การโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นธนาคาร (31.9%), การโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม (27.1%), การโอนเงินผ่านเว็บไซต์ธนาคาร (22.6%) แต่ก็ยังมีความนิยมในการชำระเงินแบบออฟไลน์อยู่มาก โดย 69.1% ระบุว่าการชำระเงินแบบออฟไลน์สะดวกและสบายใจมากกว่าแบบออนไลน์, 51.4% ไม่มั่นใจในความปลอดภัย, 27.1% ชี้ว่าขั้นตอนการชำระเงินออนไลน์ยุ่งยาก, 22.9% กลัวไม่มีหลักฐานยืนยันการทำรายการ, 11.8% ไม่รู้จักหรือไม่รู้วิธีชำระเงินออนไลน์ และ 5.1% ไม่รู้ว่าใช้กับสินค้าหรือบริการใดได้บ้าง

ทั้งนี้ ผู้ที่มีประสบการณ์ซื้อสินค้าและใช้บริการทางออนไลน์ แล้วจะพบปัญหาสินค้าที่ได้รับมีคุณภาพด้อยกว่าหรือไม่ตรงตามที่โฆษณามากที่สุด คิดเป็น 52% และได้รับสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด 43.8% ส่วนปัญหาอื่นที่มีการระบุในผลสำรวจ ได้แก่ ได้รับสินค้าไม่ตรงตามในเว็บไซต์ (29.5%), สินค้าชำรุดเสียหาย (21.3%), ชำระเงินแล้วไม่ได้สินค้า (11.9%), ได้รับสินค้าไม่ครบตามจำนวนที่สั่งซื้อ (9.1%) และส่งคืนสินค้าแล้วไม่ได้รับเงินคืน (4.6%)

โดยผู้ที่ประสบปัญหาจะเลือกวิธีที่ร้องเรียนผ่านหน่วยงานรัฐเพื่อแก้ปัญหามากที่สุดคิดเป็น 86.8% ตามด้วยการร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของสินค้าและบริการนั้น 59.8%, แจ้งความ 24% และคอมเมนต์ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ 19.4% ในกรณีผู้บริโภคที่เจอปัญหาจากการซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์แต่ไม่ร้องเรียน เป็นเพราะสาเหตุที่ว่าความเสียหายยังไม่มาก คิดเป็น 56.7% และยุ่งยากไม่ต้องการเสียเวลา 55.8% ส่วนผู้เสียหายไม่ทราบว่าต้องไปร้องเรียนที่ไหน คิดเป็น 36.2% และไม่ทราบขั้นตอนหรือวิธีการร้องเรียน 32.7%       

เอ็ตด้า คาดการณ์อัตราการเติบโตของมูลค่าอีคอมเมิร์ซปี 2560 เมื่อเทียบกับปี 2559 ซึ่งมีมูลค่า 2,560,103.36 ล้านบาท ว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซของไทยมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีมูลค่ารวมประมาณ 2,812,592.03 ล้านบาทในปี 2560 เติบโตเพิ่มขึ้น 9.86%  ซึ่งมูลค่าขายนั้นส่วนใหญ่ยังเป็นมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2B จำนวน ทั้งสิ้น 1,675,182.23 ล้านบาท (59.56%) เพิ่มขึ้น 8.63% ส่วนมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2C ของปี 2560 จำนวน 812,612.68 ล้านบาท (28.89%) เพิ่มขึ้น 15.54% และมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2G จำนวน 324,797.12 ล้าน บาท (11.55%) เพิ่มขึ้น 3.24%

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ