ถอดรหัสร่างกฎหมายเปิดช่องปลูก“กัญชา”รักษาโรค


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ถึงแม้พืช“กัญชา”เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 แต่ในบางประเทศได้นำพืชชนิดนี้มาวิจัยในทางการแพทย์เพราะมีสรรพคุณรักษาโรคได้หลายชนิด

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมาได้เห็นชอบ ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดพ.ศ....ที่อนุญาตให้สามารถปลูก สกัด และทำผลิตภัณฑ์ต่างๆจากพืชที่ให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษได้ เพื่อศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในคนได้ ขั้นตอนหลังจากนี้จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณาว่าจะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้หรือไม่

โดยกฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นอย่างไร นายศิริทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) บอกกับทีมข่าว “นิวมีเดีย” ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเปิดทางให้สามารถปลูกพืชที่มาจากยาเสพติด เช่น กัญชา ใบกระท่อม เพื่อนำมาวิจัยในทางการแพทย์ และนำมาใช้เป็นยารักษาผู้ป่วยได้ เพราะที่ผ่านมากฎหมายไม่อนุญาตให้นำพืชเสพติดมาทดลองในคน  อีกทั้งร่างกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจพิจารณาและอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้  พร้อมให้ป.ป.ส.กำหนดพื้นที่เพื่อทดลองปลูกพืชเสพติด

สำหรับการเพาะปลูกพืชเสพติดจะอนุญาตให้ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน เช่น มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งที่มีคณะเภสัชศาสตร์ ที่ต้องการนำพืชเสพติดมาวิจัยทางการแพทย์ก็สามารถปลูกได้ แต่ต้องขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นอกจากนี้ ป.ป.ส.จะเป็นผู้ควบคุมดูแลเพื่อนำพืชเสพติดไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะประกาศใช้ในทางการแพทย์ได้ ซึ่งจะต้องตั้งกติกาหลักเกณฑ์ในการขออนุญาตเพาะปลูก โดยมีแต่งตั้งคณะทำงานมา 4คณะ ประกอบด้วย 1.คณะพัฒนาสายพันธุ์การปลูก ซึ่งรับผิดชอบในการวิจัยสายพันธ์ว่าจะพัฒนากัญชาสายพันธุ์จากไทยอย่างไร หรือ จำเป็นต้องไปซื้อเมล็ดจากต่างประเทศมาเพาะปลูกแล้วพัฒนาเป็นสายพันธุ์ของไทย 2. คณะวิจัยในการสกัดกัญชา และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น สกัดกัญชาให้ออกมาเป็นน้ำมันกัญชา ,สกัดเป็นยาแคปซูล ,สกัดเป็นยาไว้ทา , สกัดให้เป็นยาเหน็บ หรือ เป็นยาที่นำมาแปะบนผิวหนัง 3. คณะทำงานบ่งชี้ว่ากัญชาสามารถรักษาโรคอะไรได้บ้าง คณะทำงานชุดนี้มีอธิบดีกรมการแพทย์เป็นประธาน และ 4.คณะควบคุมกำกับดูแลมีอย.และป.ป.ส. รับผิดชอบ

อย่างในประเทศแคนาดา บริษัทเอกชนเป็นผู้ขออนุญาตเพาะปลูกกัญชา แต่ประเทศไทย ทางคณะกรรมการคงต้องมาปรึกษาหารือกันอีกครั้ง โดยจะไม่ให้มีการเพาะปลูกอย่างอิสระแน่นอน เพราะพืชชนิดนี้เป็นยาเสพติด และมีความเป็นไปได้ คือ ให้หน่วยงานรัฐ เช่น องค์การเภสัช หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นหน่วยงานที่เพาะปลูกเพราะจะสามารถควบคุมได้ง่าย เนื่องจากยังมีหลายคนกังวลว่าอาจจะมีการรั่วไหล หรือนำไปใช้ผิดประเภท เพราะกัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ

ในประเทศแคนนาดาใช้กัญชาในทางการแพทย์ตั้งแต่ปี 2001 โดยเริ่มแรกให้ปลูกบ้านละ 4ต้น แต่เมื่อปลูกแล้วก็เกิดปัญหาเพราะไม่ได้คุณภาพไม่สามารถนำมาสกัดเป็นยารักษาโรคได้ อีกทั้งเมื่อปลูกแล้วกลับมีการนำไปใช้ในทางที่ผิด ทางแคนนาดาจึงเปลี่ยนระบบการปลูกใหม่ โดยให้บริษัทเอกชนผลิตในระดับอุตสาหกรรม และต้องมาขอ License หรือ ใบอนุญาต โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ควบคุมดูแล

 “การปลูกกัญชานั้น ควรจะทำแบบระบบปิด ทำแบบโรงเรือน ควบคุมคนเข้าออก และควบคุมปัจจัยที่ทำให้กัญชาออกดอกด้วย เพราะกัญชา มีทั้งเพศผู้ ตัวเมีย และ กระเทย ถ้าตัวเมียจะมีซึ่งเป็นสำคัญของกัญชาที่นำมาใช้ในทางการแพทย์ ส่วนเพศผู้ กับกระเทย ไม่มีสารสำคัญที่จะนำมาสกัดเป็นยาได้ ดังนั้นต้องปลูกกัญชาให้เป็นเพศเมีย ซึ่งจะต้องควบคุมเรื่องแสงสว่าง อุณหภูมิ การให้น้ำ ให้ปุ๋ย ซึ่งจะต้องทำเป็น ระบบ ออแกนิค”นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ ยังกล่าวอีกว่า สรรพคุณของกัญชานั้น ที่ได้วิจัยออกมาแล้วพบว่าสามารถรักษาโรคได้หลายชนิด  เช่น 1. กลุ่มโรคอาการเจ็บปวดเรื้อรัง หรือ อาการเจ็บปวดมากๆ เพราะถ้าใช้มอร์ฟีน ก็จะมีผลข้างเคียง คือ การกดทางเดินหายใจ และส่งผลต่อระบบประสาท จึงต้องใช้กัญชารักษาเพราะไม่กดระบบหายใจ 2.คือ กลุ่มโรคลมชักบางครั้งคนที่เป็นโรคนี้ไม่สามารถคุมตัวเองได้ ก็ต้องใช้กัญชาในการรักษา 3.คือ กลุ่มที่กล้ามเนื้อเกร่ง ปลายสมองอักเสบ และ โรคพาร์กินสัน กัญชาก็สามารถรักษาได้ 4. กลุ่มโรคคลื่นอาเจียน จำเป็นต้องใช้กัญชารักษาเพราะจะทำให้เกิดความอยากอาหาร

อาจมีโรคบางกลุ่มที่ยังกำกวมว่ากัญชาสามารถรักษาได้หรือไม่ เพราะขั้นตอนการวิจัยแต่ยังไม่ 100 %  เช่น โรคสมองเสื่อม และ โรคมะเร็ง ซึ่งจากหลอดทดลองพบว่ากัญชามีสารที่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ แต่ยังไม่เคยนำทดลองในมนุษย์ แต่ในตำราของแพทย์แผนไทยได้ระบุไว้ว่าใช้กัญชารักษาโรคลมชัก และโรคมะเร็งตับ ” นพ.โสภณ ระบุทิ้งท้าย

หลังจากนี้คงต้องติดตามดูว่ากัญชาจะสามารถนำมาวิจัยในทางการแพทย์ได้หรือไม่ เพราะยังต้องลุ้นว่าในที่ประชุมสนช.จะลงมติผ่านหรือไม่ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ