พบอีกนายทุนจีนเปิดโรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ รั้วบ้านเดียว 15 ใบอนุญาต


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เมื่อวานนี้ตำรวจเข้าตรวจสอบโรงงานบริษัทดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัดที่มีเจ้าของเป็นชาวฮ่องกงเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา พบกองขยะอิเล็กทรอนิกส์และสารเคมีอันตรายจำนวนมาก คาดว่ามีลักลอบนำเข้า วันนี้เจ้าหน้าที่นำทีมไปตรวจค้น โรงงานอีกแห่งหนึ่ง ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวจีน พบกองขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบเดียวกัน และยังพบข้อที่น่าสังเกตด้วยว่า โรงงานนี้ได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้ตั้งโรงงานคัดแยกขยะและโรงงานรีไซเคิลถึง 15 ใบ ในรั้วบ้านเดียวกัน

เมื่อวันที่ (23 พ.ค. 61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพมุมสูง ของโรงงาน 15 แห่งในจุดเดียว ที่ได้ใบอนุญาตจดทะเบียนเป็นโรงงานคัดแยกขยะ และโรงงานรีไซเคิล ทำให้เห็นมีกองวัสดุทางอิเล็กทรอนิกส์หลายชนิดกองอยู่ ทั้งแผงวงจร ไดนาโม และมีอีกหลายชนิดใส่อยู่ในถุงบิ๊กแบ็ก และกองที่มีผ้าใบสีฟ้าคลุมไว้ บางส่วนถูกหลอมและนำใส่แป้นพิมพ์แล้ว และยังมีโครงหลังคา ที่ใช้สำหรับกันฝน ให้กับขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากที่วางกองอยู่รอบโรงงานและล้นออกมาภายนอก

โรงงานนี้เป็นของ บริษัท นิวส์สกาย เมทัล จำกัด ขอจดทะเบียนเป็นโรงงานประเภท 105 คือ โรงงานคัดแยกขยะ 7 ใบอนุญาต และมีใบอนุญาตเป็นโรงงานประเภท 106 หรือโรงงานรีไซเคิล 8 ใบอนุญาต แต่ที่น่าสนใจคือ ใบอนุญาตทั้ง 15 ใบ ที่ออกโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ออกในบ้านเลขที่ 111/2 ถึง 111/8 และที่ดินอีก 1 แปลง ซึ่งทั้งหมดอยู่ในรั้วเดียวกัน ในหมู่ที่ 9 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นำทีมลงพื้นที่ตรวจสอบขยายผลจากการตรวจโรงงานในลักษณะเดียวกัน ของ บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง ที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวานนี้ โดยพบโรงงาน 15 แห่งที่ อ.พนมสารคาม ซึ่งตรวจสอบวันนี้ เดินเครื่องมืออุตสาหกรรมโดยยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการ และยังนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นวัตถุอันตราย เป็นความผิดตาม พ.ร.บวัตถุอันตรายขัดอนุสัญญาบาเซิล มีกรรมการบริษัทเป็นชาวจีน ร่วมกับชาวไทย โดยยืนยันว่า จะต้องสอบสวนขยายผลไปถึงการออกใบอนุญาต ซึ่งตามขั้นตอน การขอตั้งโรงงาน ต้องผ่านความเห็นชอบของอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

มีข้อสังเกตที่สำคัญจากแหล่งข่าวในกระทรวงอุตสาหกรรมว่า เหตุใดกรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงออกใบอนุญาตถึง 15 ใบ ให้กับโรงงานที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทั้งที่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตเพิ่มใบละ 60,000 บาท โดยหากดูข้อกฎหมายจะพบว่า ใบอนุญาตโรงงานคัดแยกขยะหรือรีไซเคิลแต่ละใบ จะจำกัดปริมาณการนำเข้าของเสียประมาณ 1 00,000 ตันต่อปี หมายความว่า การมีใบอนุญาตเพิ่มขึ้น ก็จะสามารถนำเข้าของเสียเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนใบอนุญาต

นายสิริพงศ์ พัฒนทวีกิจ ที่ปรึกษาบริษัท นิวส์สกาย เมทัล อ้างว่า โรงงานแห่งนี้มีระบบจัดการที่ดี  มีเครื่องจักรที่ทันสมัยได้มาตรฐาน และไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ส่วนสาเหตุที่ต้องขออนุญาตเปิดถึง 15 โรงงาน เพราะต้องกำจัดทั้งของเสียอันตรายและของเสียไม่อันตรายทำให้ต้องสร้างควบคู่กัน  และก่อนเปิดโรงงานสอบถามความเห็นชาวบ้านในพื้นที่แล้ว ส่วนชิ้นส่วนที่เหลือจากการเผาจะนำไปฝังกลบ

ส่วนที่ยังเป็นนข้อสงสัย คือ ที่มาของขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งชัดเจนว่าถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ ผ่านกระบวนการทางศุลกากร ทำให้กรมศุลกากรขอกลับไปตรวจสอบเส้นทางการนำเข้าอีกครั้ง

แม้จะยังบอกไม่ได้ว่า วัสดุทางอิเล็กทรอนิกส์ ของโรงงานแห่งนี้ มีที่มาถูกต้องหรือไม่ แต่มีข้อมูลสำคัญ คือ มีขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากจากประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก ซึ่งเป็นขยะที่มีราคาในการกำจัดสูงถึงตันละ 10,000-30,000 บาท จึงถูกนำมารวบรวมไว้ที่ท่าเรือฮ่องกง ก่อนส่งไปทำลายหรือทิ้งในประเทศจีน  แต่ในปี 2560 ประเทศจีน ประกาศยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เจ้าของกิจการชาวจีนบางส่วน มาหาพื้นที่ ร่วมกับชาวไทย ขอใบอนุญาตเปิดโรงงานประเภทคัดแยกขยะและโรงงานรีไซเคิล เพื่อนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มาที่ประเทศไทย

แม้ผู้ประกอบการจะอ้างว่า ขออนุญาตถูกต้อง แต่ก็ยังมีคำถามหลายประเด็น โดยเฉพาะ การจัดการกับชิ้นส่วนที่เหลือจากการคัดแยกและรีไซเคิล ซึ่งยังคงเป็นวัตถุอันตราย และหากทำตามกระบวนการจริงก็ต้องส่งไปทำลายด้วยการเผาในโรงงานประเภท 101 เท่านั้น จึงจะสามารถกำจัดขยะอันตรายตามกฎหมายได้

นอกจากนี้ยังขยายผลไปยังโรงงานหลอมขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในตำบลเขาหินซ้อน ซึ่งพบเตาหลอมขนาดใหญ่ เป็นของบริษัท ทรัพย์เจริญ รีไซเคิล จำกัด พบโรงงานได้รับอนุญาตจากกรมโรงงาน และท้องถิ่นในการตั้งโรงงาน เมื่อปี 2556 แต่เมื่อมาตรวจสอบเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอ้างว่า ในอดีตที่นี่ถูกกฎหมายจึงให้ดำเนินการ แต่เมื่อเร็วๆนี้เพิ่งทราบว่าโรงงานลักลอบต่อเติมอาคาร

จากการสังเกตุของเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าที่นี่ไม่ถูกต้องเพราะไม่สามารถกรองอากาศที่มีสารพิษจากการหลอมขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ จึงจะสั่งปิดทันที และห่างกันไปไม่ถึง 2 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่พบโรงงานของบริษัท ซันเหลียนไทย จำกัด ประกอบกิจการนำวัสดุใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ แต่กลับมีกองขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากอยู่ภายใน โดยหลังจากนี้จะดำเนินการตามกฎหมาย

ส่วนสถิติการขอก่อตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มขอก่อตั้งโรงงานเพิ่มขึ้น และอัตราการผลิตสูงขึ้นหลายเท่าตัว จากปี 2559 มีกำลังการผลิตเพียงหลักหมื่นตัน แต่พอมาปี 2560 กำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2 แสนตันต่อปี  และมีข้อมูลด้วยว่า มีโรงงานในลักษณะนี้ เตรียมขอใบอนุญาตเพิ่มอีก 40 แห่ง ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ