พบเอกสารโรงงานรีไซเคิล นิคมลาดกระบัง ขอกรมโรงงานฯนำเข้าวัตถุอันตราย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากการตรวจสอบโรงงานรีไซเคิล ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และพบว่าครอบครองขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก รวมทั้งส่งต่อไปยังโรรงานรีไซเคิลที่ถูกตรวจสอบใน อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทราด้วย ซึ่งไม่สอดคล้องกับใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน ล่าสุด ทีมข่าวพีพีทีวี พบเอกสารที่โรงงานแห่งนี้ขออนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายหลายชนิดจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม นี่กลายเป็นประเด็นที่นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งคำถามต่อกระบวนการอนุญาตนำเข้าและการตรวจสอบกิจการโรงงาน ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ

โรงงาน ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรมลาดกระบัง ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวไต้หวัน ถูกเข้าตรวจสอบเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดย พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตรวจพบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นขยะอันตรายจำนวนมาก เช่น โทรศัพท์มือถือเก่า แบตเตอรี่นิกเกิล แบตเตอรีตะกั่วกรด ทั้งที่ใบอนุญาต ระบุว่า ไม่ได้รับอนุญาตให้ครองครองของเสียอันตราย แต่กลับพบหลักฐานการส่งของเสียอันตรายเหล่านี้ ต่อไปให้กับโรงงานรีไซเคิล ซึ่งถูกตรวจค้นและแจ้งข้อหา ที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา จึงถูกแจ้ง 7 ข้อหา และกรมโรงงานอุตสาหกรรมชี้แจงว่า เป็นการสำแดงข้อมูลการนำเข้าเป็นเท็จ และบอกว่า การตรวจสอบว่าโรงานไม่ทำตามใบอนุญาต ไม่อยู่ในอำนาจของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

เอกสารฉบับนี้ ลงวันที่ 4 มกราคม 2561 เป็นเอกสารขออนุญาตนำเข้าวัตถุอันตราย ที่ บริษัท ไวโรกรีน ขออนุญาตกับกรมโรงานอุตสาหกรรม โดยรายการขอนำเข้าระบุถึง ตัวเก็บปะจุไฟฟ้า แบตเตอรี่ สวิตซ์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เศษแก้วจากหลอดรังสีแคโทด และแอคดิเวเด็ดกลาสอื่นๆ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีซีบี หรือที่ปนเปื้อนด้วยแคทเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเน็ตไบฟีนิล ในเอกสารระบุที่มาจากประเทศสิงคโปร์ ขอนำเข้า 1 หมื่นเมตริกตัน และท้ายหนังสือระบุว่า อนุญาตตามอนุสัญญาบาเซล

ทีมข่าวพีพีทีวี ตรวจสอบพบว่า บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด จดทะเบียนเป็นโรงงานประเภท 106 หรือโรงานรีไซเคิล ตั้งอยู่ที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และสำนักงานบริษัทอยู่ที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ประกอบกิจการซ่อมแซมดัดแปลงเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่าใช้แล้ว รีไซเคิล จอมอนิเตอร์แบบแอลซีดีบดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และถอดประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องโทรทัศน์ เครื่องโทรศัพท์ เครื่องเราท์เตอร์คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องจักร

เมื่อสอบถามกับผู้เชี่ยวชาญในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้รับคำยืนยันว่า ชิ้นส่วนที่บริษัทนี้ขอนำเข้ามา และชิ้นส่วนที่พบในโรงงานรีไซเคิลที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งถูกระบุว่า ถูกส่งมาจากบริษัทไวโรกรีน เมื่อผ่านกระบวนการต่างๆที่เอาไปสกัดแล้ว ยังจะมีชิ้นส่วนที่เหลือ ต้องส่งไปกำจัดในโรงงานประเภท 101 ซึ่งมีศักยภาพกำจัดขยะอันตรายได้เท่านั้น ไม่สามารถกำจัดเองโดยโรงงานรีไซเคิลได้ โดยในประเทศไทย มีเพียง 3 แห่ง คือ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน, บริษัท เจนโก้ และบริษัท โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี แต่เมื่อตรวจรายการรับกำจัดขยะอันตรายของทั้ง 3 บริษัทนี้แล้ว ไม่พบว่ามี รายการที่ส่งมาจาก บริษัท ไวโรกรีน

นายสมนึก จงมีวศิน ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ระบุกรณีที่โรงงานย่านลาดกระบังมีใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตราย แต่ไม่มีศักยภาพในการกำจัด โดยตั้งคถามว่า กรมโรงงงานอุตสาหกรรม มีกระบวนการตรวจสอบในขณะที่โรงงานเปิดดำเนินการไปแล้วหรือไม่ ว่าได้ปฏิบัติตามใบอนุญาตหรือไม่ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมจึงขยะอันตรายจำนวนมากจะอยู่ในโรงงานที่ไม่มีศักยภาพกำจัด และทำไมสามารถนำเข้ามาได้

ส่วนประเด็นที่พบ โรงงานรีไซเคิล ใน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ได้ใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน 15 ใบ ในพื้นที่รั้วเดียวกัน ซึ่งประเด็นนี้ อธิบดีกรมโรงงานอุตสากหกรรม เคยชี้แจงว่า การออกใบอนุญาตหลายใบ ดูจากศักยภาพของโรงงาน และยืนยันว่า ไม่มีผลต่อปริมาณการขอนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

แต่นายสมนึก เห็นแย้งว่า การขอใบอนุญาตหลายใบ มีผลต่อเป็นโควต้าในการนำเข้าผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น ก่อนมาแยกชิ้นส่วนจนกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ตกค้างจำนวนมาก ทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร จึงควรตรวจสอบขั้นตอนการนำเข้าให้รอบคอบกว่านี้ เพราะเห็นภาพจากโรงงานในจังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า มีผลิตภัณฑ์รุ่นเก่า ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ ซ่อมแซมได้ปนอยู่จำนวนมาก ซึ่งหมายความว่า เป็นการจงใจนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาแยกชิ้นส่วน และจะกลายเป็นขยะอันตราย

มีข้อเสนอแก้ไขปัญหานี้ คือ ให้ปิดรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เพราะมองว่าประเทศไทยไม่มีความจำเป็นในการนำเข้า และไม่มีศักยภาพในการจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ได้ และผลักดันร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัฑณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งเป็นร่างกฎหมาย ที่ร่างขึ้นตั้งแต่ปี 2541

แต่ขณะนี้แม้จะผ่านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2558 แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของอนุกรรมาธิการในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งน่าสนใจว่า ร่างกฎหมายนี้ มีสาระสำคัญคือ ให้เจ้าของบริษัทผู้ผลิต หรือ ผู้จำหน่าย เจ้าของฉลาก หรือผู้นำเข้า ต้องร่วมรับผิดชอบในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ