บุหรี่ !! คร่าชีวิตคนไทยปีละ 51,651 คน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




31 พ.ค.ของทุกปี นอกจากเป็น “วันงดสูบบุหรี่โลก” แล้ว ยังเป็นวันงดบริโภคยาสูบ ซึ่งมีจุดหมายเพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงผลกระทบหรือผลข้างเคียงจากการบริโภคยาสูบ ไม่ว่าจะรูปแบบใด เช่น การสูบบุหรี่ หรือการสูบบารากู่เป็นต้น

วันนี้นิวมีเดียพีพีทีวี ขอนำข้อมูลสถิติและปัญหาจากการสูบบุหรี่ของประเทศไทย และต่างประเทศมาเล่าสู่กันฟัง

จากข้อมูลของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ หัวข้อมูล “สถิติและปัญหาจากการสูบบุหรี่ประเทศไทย” (http://www.smokefreezone.or.th/) ระบุว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนเวลาที่ป้องกันได้ ซึ่งการสูบบุหรี่ทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละ 51,651 คน หรือวันละ 141 คน โดยผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่อายุสั้นลง 12 ปี และป่วยหนักโดยเฉลี่ย 2.5 ปีก่อนตาย

ขณะที่การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงหลายโรค เช่น โรคหัวใจ 12.2 ล้านคน โรคเส้นเลือดสมอง 10.2 ล้านคน และหญิงตั้งครรภ์สูบบุหรี่ทำให้คลอดก่อนกำหนด 19.1 ล้านคน

การสูบบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็ง 12 ชนิด คือ มะเร็งช่องปาก ลำคอและกล่องเสียง หลอดลมและปอด หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก ตับ ตับอ่อน ไต กระเพาะปัสสาวะ ปากมดลูก และเม็ดเลือดขาว

นอกจากนี้จากข้อมูลการสูบบุหรี่ในประเทศไทย ปีพ.ศ.2557 พบว่า มีผู้สูบบุหรี่ 11.4 ล้านคน แบ่งเป็นชาย 10.7 ล้านคน และหญิง 0.6 ล้านคน

ส่วนการติดบุหรี่ของเยาวชนไทย พบว่า ปี พ.ศ.2557 มีเยาวชน 200,000 คน เป็นนักสูบหน้าใหม่ หรือคิดเป็น 547 คน/วัน

และการสำรวจในเด็กนักเรียนอายุ 13-15 ปี (พ.ศ.2558) พบว่า มีการใช้ยาสูบ 14.0 % บุหรี่ไฟฟ้า 3.3 % โดยเกือบ 1 ใน 4 ของนักเรียนอายุ 13-15 ปี ไม่เคยได้รับการสอนเกี่ยวกับอันตรายของการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ เยาวชนไทยที่ติดบุหรี่ มีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มขึ้นกว่าเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่  คือ มีโอกาสดิ่มสุรา 3.5 เท่า / เที่ยวกลางคืน 3.2 เท่า / เล่นการพนัน 3.3 เท่า / ใช้ยาเสพติด 17.0 เท่า และมีเพศสัมพันธ์ 3.7 เท่า

ส่วนการสำรวจ ปี พ.ศ.2554 ระบุว่า ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ ร้อยละ 54 / พยายามที่จะเลิกสูบบุหรี่ ร้อยละ 36.7 และใช้วิธีพยายามเลิกด้วยตนเอง ร้อยละ 90.7

องค์การอนามัยโลก ชี้คนสูบุหรี่ลด แต่การบริโภคยาสูบยังน่าห่วง

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เปิดเผยว่า แม้จำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกจะลดลง โดยเฉพาะผู้หญิง แต่สัดส่วนของประเทศต่างๆ ที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จในการลดการบริโภคยาสูบให้ได้ 30 % ตามเป้าหมาย ของ WHO ภายในปี 2025 มีเพียง 1 ใน 8 เท่านั้น 

ดักกลาส เบทเชอร์ ผู้อำนวยการแผนกป้องกันโรคไม่ติดเชื้อของ WHO ระบุว่าแต่ละปี ประชากรทั่วโลกประมาณ 3 ล้านคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจและหลอดเลือด อันเกี่ยวเนื่องกับการบริโภคยาสูบ  จำนวนนี้ประมาณ 890,000 คน เสียชีวิตเพราะสัมผัสกับควันบุหรี่มือสอง 

ขณะที่ภาพรวมการบริโภคยาสูบทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกปีละ 7 ล้านคน เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงก่อโรคหัวใจและมะเร็งปอด

ส่วนประเทศที่มีจำนวนผู้สูบบุหรี่มากที่สุดในโลก 3 อันดับแรก คือ จีน ซึ่งมีสิงห์อมควันมากถึง 307 ล้านคน  ตามมาด้วยอินเดียที่มี 107 ล้านคน และอินโดนีเซีย 74 ล้านคน ซึ่งล้วนแต่อยู่ในทวีปเอเชีย

ขณะที่ทวีปอเมริกา (รวมเหนือ-ใต้) เป็นภูมิภาคเดียวในโลกที่มีแนวโน้มลดปริมาณการบริโภคยาสูบได้ตามเป้าหมายของ WHO ส่วนในทวีปยุโรป อัตราการลดลงของการบริโภคยาสูบเริ่มหยุดนิ่ง เนื่องจากความล้มเหลวในการจูงใจไม่ให้ผู้หญิงสูบบุหรี่ ส่วนแอฟริกายังคงตามหลังภูมิภาคอื่นๆ ขณะที่ตะวันออกกลางมีแนวโน้มการบริโภคยาสูบมากขึ้น

ขอบคุณภาพจาก AFP

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ