ม.6 ชี้ ระบบ “TCAS”ทำเด็กถูกกดดันจากปัจจัยรอบข้าง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เด็กม.6 ชี้ระบบ “TCAS”ทำเด็กถูกกดดันจากปัจจัยรอบข้าง แนะแยกสอบคณะแพทย์ ขณะที่ “อาจารย์อ๊อด” เผยไม่อยากให้แยกสอบคณะแพทย์เพราะจะทำให้เด็กบางคนเสียสิทธิ์2เด้ง

ถึงแม้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ได้แก้ปัญหาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาTCAS (ทีแคส) รอบ 3 โดยเพิ่มการ Clearing house (CH) ในรอบ 3 เป็น 2 ครั้ง คือ CH3/1 และ CH3/2 โดยให้สอบสัมภาษณ์พร้อมกัน ระหว่างวันที่ 10-11 มิ.ย. นั้น ทางผู้ปกครองของเด็กนักเรียนเห็นว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวยังคงมีการกั๊กที่นั่งเหมือนเดิม

วันนี้ 31 พ.ค.61 รายการ "เป็นเรื่องเป็นข่าว" ได้เชิญเด็กนักเรียนชั้นม.6 และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย มาร่วมพูดคุยกันในรายการ

รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ (อาจารย์อ๊อด) เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวบางช่วงบางตอนว่า มติที่ทปอ.เมื่อวานได้หารือเรื่องการกั๊กที่ กรณีเด็กคณะแพทย์ เข้ามาสอบด้วยใน TCAS รอบ 3 ประมาณ2,600 คน และมีโควต้าเลือกได้ 4คณะ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่ได้คะแนนสูงทำให้แต่ละมหาวิทยาลัยเลือกเด็กแพทย์ทั้งหมด ทำให้เด็กที่คิดว่าตัวเองทำคะแนนตามเกณฑ์ที่คณะกำหนดไว้ต้องผิดหวัง และคิดว่าตนเองโดนกั๊กที่ แต่หลังจากนั้น 6วัน TCAS รอบ 3/1 จะให้เด็กแพทย์เลือกคณะได้แค่คณะเดียว อีก 3คณะที่เลือกจะต้องสละสิทธิ์ภายในวันที่ 3 มิ.ย.นี้

หลังจากนั้นในรอบ3/2 เป็นคณะที่เด็กแพทย์ได้สละสิทธิ์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางมหาวิทยาลัยด้วยว่าจะเลือกหรือไม่ ถ้าเกณฑ์ถึงก็จะได้รับเลือก ซึ่งตรงนี้จะทำให้เด็กมีโอกาสมากขึ้นในรอบ3/2 โดยจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 10มิ.ย.นี้ และจะให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกใน TCAS รอบ 3/1กับ 3/2 ได้สัมภาษณ์พร้อมกันในวันที่ 10-11 มิ.ย.นี้ เพราะวันที่ 12มิ.ย.จะเริ่ม TCAS รอบ 4 ซึ่งรอบนี้แบบเป็นแอดมิชชั่น แต่จะไม่มีเด็กคณะแพทย์เข้ามาร่วมด้วยเพราะได้เลือกคณะไปแล้ว และ TCAS รอบที่ 4จะมีบางคณะที่หายไปไม่มีให้เลือกคือคณะที่หนักๆเช่น คณะแพทย์ และ คณะทันตแพทย์ เพราะถูกเลือกไปหมดแล้ว

สำหรับ TCAS รอบ 1และ รอบ 2 รับทั้งหมด 120,000 ที่ และก็มีคนสละสิทธิ์จำนวนมาก รอบที่ 3 ประกาศรับ 100,300 ที่ มีเด็กมาสมัครจำนวน 106,000 คน ดังนั้น มีเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่ไม่ผ่าน แต่สิ่งที่เกิดปัญหาคือ เด็กต้องการคณะที่ตัวเองอยากได้ แต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ยกตัวอย่างเช่น มีเด็กต้องการเรียนคณะเคมี100 คน แต่คณะรับเพียง50คนโดยพิจารณาคนได้คะแนนคนที่อันดับ1ไล่ลงมาจนถึงอันดับที่ 50 ส่วนที่เหลือตัดออกไป ซึ่งคนที่ถูกตัดออกจะต้องเลือกคณะใหม่ หรือ ถ้าคณะเคมีเปิดรับทั้ง100 คน เมื่อเด็กเข้าปี1 แล้วเรียนไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็จะถูกรีไทร์เพราะศักยภาพไม่ถึง

ส่วนแนวทางแก้ปัญหาให้กลุ่มแพทย์ แยกออกไป นั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่ให้แยกออกไปอยากให้มารวมไว้ในลักษณะนี้เพราะเป็นการสอบคัดเลือก และเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าใครศักยภาพถึงก็สามารถสอบเข้าไปได้ ถ้าแยกแพทย์ออกไปบางคนต้องเสีย 2เด้ง เพราะหัวไม่ถึงหมอก็สอบเข้าไม่ได้ แต่ถ้าเอามารวมไว้ในจุดนี้เขาก็จะมีทางเลือกในคณะอื่นด้วย

 ด้าน นายคีติพงษ์ นามวัฒน์ นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนหอวัง กล่าวว่า ทุกวันนี้หลายคนอยู่ในสภาวะความเครียดรอลุ้นตลอดเวลาไม่รู้ว่าจะได้เรียนที่ไหน และถูกกดดันจากปัจจัยภายนอก เช่น ป้าข้างบ้านมักจะถามว่าไปเรียนต่อที่ไหน หลายคนไม่อยากตอบเพราะระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเปลี่ยนจากยุคเก่าถ้าตอบไปป้าคงไม่รู่เรื่อง จึงเกิดสภาวะความกังวลขึ้น

อีกทั้งระบบ TCAS เสมือนตนเองเอาชีวิตไปอยู่ในความเสี่ยง ความไม่แน่นอน เพราะบางคนอยากเสี่ยงที่จะเลือกคณะที่ตนเองอยากเรียนจริงๆถึงสละสิทธิ์ในรอบที่ 1รอบที่2 บางคนยอมเลือกคณะที่ตนเองไม่ได้ชอบมากนัก เพราะไม่รู้ในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร สำหรับตนเองผ่านตั้งแต่ TCAS รอบที่ 1 แต่ขอสละสิทธิ์เพราะต้องการเสี่ยงเลือกคณะอื่นๆที่ชอบในรอบต่อไปไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาขึ้น ถ้ารู้ว่าเกิดปัญหาตอนนั้นคงกลับนำไปคิดใหม่อีกครั้ง

 ส่วนตัวคิดว่าควรจะแยกสอบคณะแพทย์ออกไปไม่ต้องเอามารวมกับคณะอื่น

ชมคลิป>>>“ม.6” เปรียบ “ทีแคส” เหมือน “เล่นพนัน” วางเดิมพันชีวิตด้วย “คะแนน” ผ่านระบบที่ไม่ชัดเจน!

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ