ขอให้วาฬนำร่องครีบสั้นเป็นตัวสุดท้ายที่ “ตาย” เพราะกินขยะพลาสติก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ภาพวาฬนำร่องครีบสั้นที่ป่วยหนักและเกยตื้นบริเวณปากคลองนาทับ จังหวัดสงขลา ซึ่งตายลงเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา สิ่งที่น่าสลดใจมากที่สุดคือเมื่อทำการผ่าพิสูจน์กลับพบถุงพลาสติกอยู่ในกระเพาะของมันถึง 8 กิโลกรัมแน่นอนว่าถุงพลาสติกเหล่านั้นส่วนใหญ่ปะปนอยู่ในท้องทะเล

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดผลการสำรวจประเมินจากภาพรวมปริมาณขยะมูลฝอยของประเทศ ปี 2558 ในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด มีปริมาณขยะประมาณ 10 ล้านตัน/ปี  ในจำนวนนี้มีประมาณ 5 ล้านตันที่ได้รับการจัดการไม่ถูกวิธี ซึ่งเมื่อประเมินแล้วพบว่าประมาณ 10% ของขยะที่ตกค้างเนื่องจากจัดการไม่ถูกวิธีจะไหลลงทะเล ถ้าคิดเป็นปริมาณก็ตกปีละประมาณ 50,000-60,000 ตัน/ปี หรือ 750 ล้านชิ้น

ซึ่งขยะเหล่านี้ล้วนมีที่มาจากกิจกรรมบนชายฝั่ง เช่น ชุมชน แหล่งท่องเที่ยวชายหาด ท่าเรือ และแหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง  80% แต่อีก 20% มาจากกิจกรรมในทะเล เช่น การประมง การท่องเที่ยวทางทะเล การขนส่งทางทะเล

ซึ่งขยะทะเลหากนำมาแยกจะพบว่าอันดับหนึ่งคือ ถุงพลาสติก 14,977 ชิ้น อันดับที่ 2 หลอดจากเครื่องดื่ม 11,579 ชิ้น อันดับที่ 3 ฝาจุก 9,800 ชิ้น อันดับที่ 4 ภาชนะบรรจุอาหาร 9,276 อันดับ 5 เชือก 7,057 ชิ้น อันดับที่ 6 บุหรี่/ก้นกรองบุหรี่ 6,388 ชิ้น อันดับที่ 7 กระป๋อง 6,276 ชิ้น อันดับที่ 8 กระดาษ 5,861 ชิ้น อันดับที่ 9 โฟม 5,614 ชิ้น อันดับที่ 10 ขวดแก้ว 2,404 ชิ้น  โดยถุงพลาสติกเพียง 1 ใบใช้เวลาย่อยสลายถึง 450 ปี

และเป็นที่น่าสนใจว่าประเทศผู้ปล่อยขยะลงมหาสมุทรมากที่สุดในโลก (จัดอันดับโดยองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเลร่วมกับ McKinsey Center of business and Environment) บอกว่า 60% ของขยะที่อยู่ในท้องทะเล มาจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย

และจากการคาดคะเนจำนวนขยะที่ถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทรทีมนักวิจัยต่างประเทศ ชี้ว่า จำนวนพลาสติกที่อาจไปติดอยู่ตามแนวปะการังในเอเชียแปซิฟิค อาจเพิ่มขึ้นจาก 1.11 พันล้าน เป็น 1.57 พันล้านชิ้น ภายในปี 2025 โดยในแต่ละปี มีขยะพลาสติกประมาณ 4.8 ถึง 12.7 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงสู่มหาสมุทร และกว่าสามในสี่ของพลาสติกเหล่านี้มากจากบนบก

อย่างไรก็ตาม สำหรับวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ (5 มิ.ย.2561) หลายประเทศตื่นตัวเรื่องการใช้ถุงพลาสติก จากการเปิดเผยของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า สหภาพยุโรปกำลังออกกฎหมายเพื่อแบนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง เช่น หลอดดูดน้ำ ที่คนกาแฟ แก้วกาแฟ ฯลฯ เพราะสร้างความเสียหายให้ทะเลเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ หลายห้างสรรพสินค้าก็ประกาศเลิกใช้ถุงพลาสติกในปีหน้า โดยจะนำผลิตภัณฑ์ทดแทนจากธรรมชาติมาใช้หากมีการร้องขอ

และในตอนหนึ่ง ดร.ธรณ์ ได้เขียนข้อความถึงวาฬนำร่องครีบสั้นที่เพิ่งตายลงเพราะถุงพลาสติก ว่า  ในฐานะประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายากและกรรมการปฏิรูปประเทศ ผมพยายามทำทุกทางที่คิดออก ใส่แผนใส่งบประมาณยกระดับการช่วยสัตว์ทะเล สร้างศูนย์ สร้างเครือข่าย ฯลฯ แต่แผนหรือโครงการใดๆ ก็ไม่มีทางช่วยชีวิตสัตว์หายาก หากขยะพลาสติกยังมีอยู่เต็มทะเลไทย ไม่ว่าเราจะมีคุณหมอผู้ทุ่มเทขนาดไหน มีชาวบ้านที่รักทะเลเพียงใด มีอาสาสมัครจากทั่วสารทิศ มีเครื่องมือสุดทันสมัย มีโน่นมีนี่อีกมากมาย เราช่วยเธอไม่ได้ครับ ไม่มีใครสามารถช่วยวาฬนำร่องที่มีถุงพลาสติก 8 กิโลกรัมอยู่ในท้องขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากพวกเรา ความตายของวาฬน้อยที่เกิดจากความไม่ใส่ใจของพวกเรา

ขอให้วาฬนำร่องครีบสั้นนี้เป็นตัวสุดท้ายที่เป็นบทเรียนอันล้ำค่าและเป็นประกายจุดติดจิตสำนึกของพวกเราโดยเริ่มตั้งแต่วันนี้วันที่  5 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป

ขอบคุณข้อมูล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,องค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์กรมหาชน) , เฟชบุ๊ก ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , องค์กรอนุรักษ์ท้องทะเลร่วมกับ McKinsey Center of business and Environment , ภาพจาก AFP

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ