“วาฬกินถุงพลาสติกตาย” หลักฐานบ่งชี้วิกฤติขยะทะเลไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ภาพวาฬนำร่องกินถุงพลาสติกแล้วเสียชีวิตในไทย ไม่เพียงสะท้อนวิกฤติปัญหาขยะในท้องทะเลไทย แต่ยังสะท้อนประสิทธิภาพและความจริงใจในการแก้ปัญหาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ (5 มิ.ย.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถุงพลาสติก 85 ชิ้น น้ำหนักกว่า 8 กิโลกรัม ที่เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ผ่าชันสูตรพบในท้องซากวาฬนำร่องครีบสั้นที่ว่ายมาเกยตื้นบริเวณคลองนาทับ ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นภาพที่สะเทือนใจคนทั้งโลก และตอกย้ำถึงปัญหาขยะในทะเลที่เข้าขั้นวิกฤติ สำหรับประเทศไทย ขยะทะเลทำให้สัตว์ทะเลประมาณร้อยละ 17 ของสัตว์ทะเลตัวอย่างเสียชีวิตหลังกินขยะพลาสติกเข้าไป และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ด้านอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ร้อยละ 80 ของขยะในทะเลไทยมาจากบนบก ส่วนอีกร้อยละ 20 มาจากกิจกรรมทางทะเล ดังนั้นหากสกัดขยะที่อยู่บนบกได้ก็จะช่วยลดปริมาณขยะในทะเลได้ โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติก หลังพบคนไทย 1 คนใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ย 8 ใบต่อวัน ซึ่งถือว่ามากเกินไป

โดยจากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เมษายน 2561) พบว่า ขยะในทะเลไทยไม่ได้แค่ถุงพลาสติก แต่ยังมีอีกหลายประเภท ซึ่งที่พบมากที่สุด คือ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก รองลงมา คือถุงพลาสติก, ขวดเครื่องดื่มที่เป็นแก้ว, หลอดหรือที่คนเครื่องดื่ม, ถ้วยหรือจานโฟม, ถุงขนม, ถุงก๊อบแก๊บ, กล่องโฟมใส่อาหาร, กระป๋องเครื่องดื่ม และเชือก รวมแล้วมีน้ำหนักกว่า  27,000 กิโลกรัม

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการทางทะเลและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ข่าววาฬนำร่องกินถุงพลาสติกทำให้ภาพลักษณะเกี่ยวกับขยะทะเลของไทยในสายตาคนทั่วโลกนั้น เป็นภาพลักษณ์ที่แสนสาหัส และอาจส่งผลกระทบต่อไทยในด้านอื่น ๆ ตามมาในอนาคต ส่วนประเด็นสิ่งแวดล้อมวันนี้ เกี่ยวพันกับประเด็นเศรษฐกิจโลก สิ่งที่เกิดกับวาฬนำร่องครั้งนี้เป็นคำตอบที่ชัดเจนในตัวเองว่า สิ่งที่เรารณรงค์กันมาอาจจะช่วยได้แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น หากข่าวนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั่วโลกจับตามองมาที่ไทยแต่เราไม่แก้ปัญหาอย่างจริงจังก็เท่ากับเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ

ทั้งนี้ขยะทะเล โดยเฉพาะถุงพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของไทยในขณะนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร เมื่อขยะพลาสติกในทะเล ถูกรังสีอุลตราไวโอเลตในแสงแดด ขยะพลาสติกก็จะย่อยสลายสารบางชนิดออกมา พลาสติกที่แตกตัวจนมีขนาดเล็กมาก ๆ เหล่านี้ เรียกว่า ไมโครพลาสติก และปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเล โดยไมโครพลาสติก ส่งผลกระทบกับมนุษย์อย่างไร จากการวิจัยพบว่า ไมโครพลาสติกสามารถถ่ายทอดผ่านทางห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากขนาดที่เล็กมาก ทำให้สัตว์ทะเลขนาดเล็ก เช่น กุ้ง หอย หรือ ปลาทะเล หรือ แพลงก์ตอน กินเข้าไป สัตว์ทะเลขนาดเล็กเหล่านี้ก็จะเป็นอาหารของสัตว์ทะเลที่มีขนาดใหญ่กว่า และสัตว์ทะเลเหล่านี้ก็กลายมาเป็นอาหารของมนุษย์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร

นอกจากนี้ เมื่อคนกินสัตว์ทะเลที่มีไมโครพลาสติกเข้าไป ไมโครพลาสติกก็จะสะสมในร่างกายคนเรา โดยจะทำหน้าที่เลียนแบบฮอร์โมนมนุษย์ ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพ ตั้งแต่ โรคมะเร็งไปจนถึงภาวะการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก่อนวัยอันควร

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ