โรงงานรีไซเคิล ยอมรับ ได้ซากอิเล็กฯจากบริษัทที่ได้รับอนุญาตนำเข้า ส่อผิดเงื่อนไข


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เมื่อสองวันก่อน มีชาวบ้านที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ออกมาแสดงจุดยืนให้ปิดโรงงานรีไซเคิล 1 แห่งในพื้นที่ โดยอ้างว่า ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางการตรวจสอบวงจรการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเข้มข้น ทีมข่าวพีพีทีวีลงพื้นที่วันนี้ พบว่า เป็นโรงงานที่มีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติ วางซากอิเล็กทรอนิกส์ไว้กลางแจ้งเสี่ยงต่อการเปิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และได้รับคำยืนยันว่า ได้ซากอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ มาจาก 1 ใน 7 บริษัทที่ได้รับอนุญาตนำเข้าของเสียอันตราย จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม

กองสายไฟจำนวนมากที่วางอยู่กลางแจ้ง จากสภาพที่ปรากฎบ่งบอกได้ว่านี่ไม่ใช่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกส่งมาคัดแยก แต่มีลักษณะคล้ายขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นของเสียอันตราย แม้บริษัท เหอ เจีย เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ในตำบลท่าถ่าน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จะมีใบอนุญาตประกอบกิจการประเภท 106 คือ ขออนุญาตนำของเสียจากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มาผ่านกรรมวิธีบดย่อยถูกต้องตามกฏหมาย

แต่ชาวบ้านในพื้นที่ตั้งข้อสังเกตว่า วัตถุดิบเกือบทั้งหมดน่าจะถูกขนส่งมาจากต่างประเทศ ซึ่งตามอนุสัญญาบาเซลไม่สามารถทำได้ เว้นแต่จะมาจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตนำเข้าจากกรมโรงงานอุตสากหกรรม ซึ่งไม่มีชื่อบริษัทนี้ อยู่ในบัญชีผู้ได้รับอนุญาต

ข้อมูลนี้ตรงกับที่ทีมข่าวพูดคุยกับเจ้าของบริษัทเหอเจีย เขายอมรับว่า วัตถุดิบทั้งหมดถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศจริง แต่อ้างว่า ไม่ได้เป็นผู้นำเข้ามาเอง พร้อมอ้างถึงเอกสารพาดพิงไปที่ บริษัท โอ จี ไอ จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าเป็นผู้ขายต่อมาให้ ในราคากิโลกรัมละ 7 บาท 50 สตางค์

แหล่งข่าวระดับสูงของพีพีทีวี ระบุว่า บริษัทโอ จี ไอ จำกัด มีที่ตั้งอยู่ที่อำเภอ บางพลี จังหวัด สมุทรปราการ เป็น 1 ใน 7 บริษัทที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม อนุญาตให้นำเข้าของเสียอันตรายได้ แต่แม้จะได้รับนุญาตนำเข้า ก็ไม่สามารถส่งต่อ หรือขายซากอิเล็กทรอนิกส์ ต่อให้กับโรงงานอื่นได้ เพราะต้องส่งกากของเสียอันตรายไปกำจัดในโรงงานที่มีศักยภาพกำจัดของเสียอันตราย ประเภท 101 เท่านั้น

ทีมข่าวตรวจสอบพบว่า บริษัท โอ จี ไอ จำกัด ไม่เคยขออนุญาตนำของเสียส่งไปกำจัดที่โรงงานประเภท 101 เลย ส่วนเอกสารสำคัญซึ่งหน่วยงานในสังกัดกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตอบถึง บริษัท โอ จี ไอ เมื่อ 28 กันยายน ปี 2560 ซึ่งสอบถามไปว่า การนำเข้ามอเตอร์ เศษสายไฟทองแดง เศษโลหะ และหม้อแปลงไฟฟ้าที่ไม่มีน้ำมันหม้อแปลง จัดเป็นวัตถุอันตรายหรือไม่ และได้รับคำตอบว่า สิ่งของทั้งหมดที่สอบถามมาไม่เข้าข่ายเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล และไม่เข้าข่ายเป็นของเสียเคมีวัตถุ

ข้อมูลนี้ทำให้เกิดคำถามต่อแนวทางการอนุญาตนำเข้า เพราะทีมข่าวพีพีทีวี ได้รับข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดของเสียอันตราย ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า หม้อแปลงไฟฟ้าที่ใช้แล้ว จะไม่มีน้ำมันหม้อแปลงได้อย่างไร และภายในประกอบด้วยสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรด จะต้องทำลายด้วยเตาเผาที่มีอุณหภูมิสูงมากเท่านั้น และมีค่ากำจัดสูงถึงประมาณ 2 แสนบาทต่อ 1 ตัน เนื่องจากกรดในหม้อแปลงเป็นอันตรายต่อเตา ไม่สามารถเผาทีละมากๆได้ จึงต้องเผาครั้งละ 10-20 กิโลกรัมเท่านั้น

สิ่งที่ต้องตั้งคำถาม มี 3 ประเด็นใหญ่ ประเด็นแรก คือ การตีความคำว่าของเสียอันตราย เพราะมีสิ่งที่ถูกขออนุญาตบางรายการ ซึ่งถูกระบุว่าไม่ใช่ของเสียอันตราย แต่กลับเป็นของที่มีราคาค่ากำจัดสูงมาก ประเด็นที่สอง คือการที่บริษัทซึ่งได้รับอนุญาตนำเข้าของเสียอันตรายไม่เคยมีประวัติส่งของเสียอันตรายไปกำจัดในโรงงานประเภท 101 เป็นข้อมูลที่น่าจะตรวจสอบได้ในระบบใช่หรือไม่ และเชื่อมโยงกับประเด็นที่สาม ซึ่ง โรงงานรีไซเคิล เหอเจีย อ้างว่า รับซากอิเล็กทรอนิกส์ต่อมาอีกที ทั้งที่ไม่สามารถทำได้

นี่อาจทำให้เห็น หนึ่งในเส้นทางที่พบขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากในไทยถูกนำเข้าจากต่างประเทศ คือ มีบริษัทจัดหาและนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นส่งต่อไปยังบริษัทอื่นๆ เพื่อกระจายวัตถุดิบเพื่อนำไปคัดแยกหรือรีไซเคิล เมื่อสกัดเอาประโยชน์ซึ่งสร้างรายได้ออกไปแล้ว ก็ลักลอบทิ้ง หรือฝังกลบแบบไม่ถูกวิธี โดยไม่เคยส่งไปกำจัดอย่างถูกต้อง เพื่อลดต้นทุนค่ากำจัด ที่มีราคาสูง

ชวลิต อินทรคำ ถ่ายภาพ

บุศรินทร์ วรสมิทธิ์ รายงาน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ