นักจิตวิทยาชี้ “สอบทีแคส” ทำเด็กเครียดเพราะแบก “ความหวัง” ของครอบครัว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะแนวทางบรรเทาความเครียดสำหรับเด็กและผู้ปกครองกับการสอบทีแคสที่เป็นการสอบระบบใหม่ ย้ำให้นึกเสมอว่าการแข่งขันอยู่ในทุกช่วงของชีวิต ต้องทำความเข้าใจและหาทางออกสำรองเผื่อเอาไว้

วันนี้ (11 มิ.ย.61) นายมนัส อ่อนสังข์  หรือ “พี่ลาเต้”  บรรณาธิการข่าวการศึกษา และแอดมิชชั่น เว็บไซต์ dek-d.com กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “ทีแคส - ทีใคร มองอนาคตการศึกษาไทย” จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้เจอระบบการสอบมา 3 รูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบมีจุดประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาซึ่งพบในระบบการสอบแบบเดิม โดยการสอบแบบเอ็นทรานซ์ เกิดปัญหาว่าเด็กมีความเครียดเพราะสามารถสอบได้เพียงครั้งเดียว เป็นการปิดโอกาส จึงมีระบบแอดมิชชั่นขึ้นมาในปี 2549 เพื่อให้มีการสอบมากกว่าหนึ่งรอบ และเป็นการแก้ปัญหาการเรียนแบบท่องจำโดยเพิ่มข้อสอบ GAT และ PAT ที่เน้นความเข้าใจและปัญหาเชาว์มากขึ้น เมื่อมาถึงระบบ TCAS ปี 2561 นี้ก็ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบและค่าใช้จ่ายที่บานปลาย


นายมนัส กล่าวต่อว่า ระบบ TCAS เป็นการจัดระเบียบสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยเปรียบเทียบระบบการสอบที่ผ่านมามหาวิทยาลัยต่าง ๆ เหมือนตลาดนัดที่เรียกลูกค้าคือบรรดานักเรียน อย่างไม่มีระเบียบ ระบบ TCAS จึงเข้ามาทำหน้าที่เป็นเหมือนเทศกิจที่ควบคุมใน 3 จุด คือ 1.กำหนดเวลาให้สอบพร้อมกันเพื่อกันปัญหาการสอบหลายรอบ 2.ใช้ข้อสอบกลางในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ต้องเดินทางไปสอบในที่ไกล ๆ อย่างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หรือมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ 3.ทำให้เด็กนักเรียนได้อยู่ในชั้นเรียนจนถึงปิดเทอม ต่างจากปีก่อน ๆ ที่เด็กขาดเรียนเพื่อไปเรียนพิเศษและไปสอบ

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นระบบที่ยังไม่ได้ทดลองใช้ โดย ทปอ. มีการพูดคุยกันเสร็จเดือนมิถุนายน 2560 และประกาศใช้ในเดือนตุลาคม ใช้เวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้นในการพิจารณาประกาศใช้”

ส่วนประเด็นที่ระบบ TCAS จะเข้ามามีส่วนช่วยในการลดภาระค่าใช้จ่ายนั้น นายมนัส ระบุว่า ช่วยลดค่าใช้จ่ายจริง แต่ก็มีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นเพิ่มเติมซึ่งเกิดจากการซิกแซกของบางมหาวิทยาลัย เช่น ใน TCAS รูปแบบที่ 1 ซึ่งเป็นรอบพอร์ตหรือแฟ้มสะสมผลงานที่มีการกำหนดไว้ว่าห้ามมีการสอบ มีบางคณะบางมหาวิทยาลัยที่อาศัยช่องว่างคัดเลือกเด็กจากคะแนนของต่างประเทศจำพวก BMAT หรือ IELT แทน ซึ่งตรงนี้มีค่าใชจ่ายการสอบต่อครั้งมากกว่า 7,500 บาท และยังมีธุรกิจ “รับจ้างทำพอร์ต” เกิดขึ้นอีกด้วย เด็กที่อยากได้พอร์ตสวย ๆ เพราะเข้าใจว่ามีผลต่อการเข้ามหาวิทยาลัยก็มาลงทุนกับตรงนี้ แล้วแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีเกณฑ์การตัดสินพอร์ตที่ต่างกัน สมมติว่ายื่นไป 5 แห่ง ก็ต้องทำพอร์ตใหม่ 5 ครั้ง เป็นต้น


ด้าน รศ.ดร.วิชาญ ลิ่วกีรติยุตกุล ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนมาทั้งในฐานะอาจารย์ที่ดูแลเด็กเก่งที่สอบเข้ามาได้เป็นกลุ่มแรก ๆ และในฐานะผู้ปกครองของหลานที่ได้รับผลกระทบจากระบบ TCAS โดยหลานของตนมีชื่อติดอยู่ในระบบแต่ทางมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกลับบอกว่าหลานของตนคะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งตนเข้าใจที่ต้องมีการเปลี่ยนระบบการสอบอยู่ตลอด โดยยกตัวอย่างยุคที่มีระบบแอดมิชชั่นเพียงอย่างเดียว ก็เกิดปัญหาเด็กที่สอบติดไม่ตรงใจกับทางคณะ เด็กขาดคุณสมบัติบางอย่างมีคณะคาดหวัง จึงเกิดระบบรับตรงขึ้นมา ซึ่งก็ทำให้เด็กวิ่งรอกสอบจนเกิดเป็นระบบ TCAS

รศ.ดร.วิชาญ กล่าวต่อว่า ปัญหาอีกจุดหนึ่งคือความเครียดของเด็ก เพราะ TCAS รอบ 1 กับ รอบ 2 เป็นเหมือนการคัดเด็กเก่งไปแล้ว ความเครียดก็จะมาอยู่กับเด็กที่คะแนนอยู่ในระดับกลางถึงล่าง และยังเป็นเรื่องของระยะเวลาที่บีบคั้นและกระชั้นจนเกินไป นอกจากนี้ คำว่าระบบ TCAS รอบ 1 ถึง 5 ยังเป็นการทำให้เด็กสูญเสียความมั่นใจ ทั้งที่รอบหลักของ TCAS มันคือรอบ 4 แต่เมื่อผ่าน 1 2 3 มาแล้วแต่เด็กยังไม่มีที่เรียน ผลก็คือเกิดอาการเครียด

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ตอนนี้สิ่งที่สังคมต้องพูดคุยและให้ความสำคัญมากกว่า TCAS ว่าดีหรือไม่อย่างไร คือต้องดูว่าอนาคตการศึกษาไทยจะเป็นไปในทิศทางใด และตั้งคำถามต่อหน้าที่ของมหาวิทยาลัยว่ามีไว้ทำไม เพื่อสร้างแรงงานป้อนตลาดแค่นั้นหรือ

“ระบบ TCAS กลายเป็นเรื่องดราม่าใหญ่โตเพราะเป็นประเด็นที่มีความรู้สึก มีอนาคตเป็นปัจจัย ดังนั้นปัญหาที่มาจากค่านิยมเรื่องวิชาชีพแพทย์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม ยังเป็นเรื่องที่สังคมต้องถกเถียงกัน เปรียบเทียบการศึกษาก็เหมือนการแข่งขันกีฬา มีพ่อแม่คอยเป็นพี่เลี้ยง ปลูกฝังค่านิยมเดิม ๆ” ผศ.อรรถพล กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ระบบ TCAS เป็นระบบใหม่ ดังนั้นจึงสร้างความไม่เชื่อมั่นให้แก่เด็ก ซึ่งมากกว่าความเครียดกังวลนั้นเด็กส่วนใหญ่จะรู้สึกกลัว เพราะเขาไม่ได้แบกแค่ความหวังของตัวเอง แต่เขาแบกความหวังของพ่อแม่ ของครอบครัว และของป้าข้างบ้าน พร้อมทั้งเสนอแนวทางบรรเทาความเครียดสำหรับเด็กและผู้ปกครองให้นึกไว้เสมอว่าการแข่งขันอยู่ในทุกช่วงของชีวิต ระบบ TCAS เป็นแค่หนึ่งในนั้น ต้องทำความเข้าใจและหาทางออกสำรองเผื่อเอาไว้ อย่าไปปักใจเชื่อว่าเราจะสมหวัง ถ้าเตรียมทางออกไว้ความเครียดจะลดลง เพราะเด็กควบคุมคนอื่นไม่ได้ ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือการควบคุมและจัดการตัวเองเท่านั้น

ส่วนของพ่อแม่ผู้ปกครอง ผศ.ดร.พรรณระพี แนะนำว่า ให้พูดคุยกับลูก สร้างความมั่นใจให้กับลูก ให้เขารู้สึกว่าเรามั่นใจในตัวเขาและพร้อมจะอยู่เคียงข้างเขาเสมอไม่ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร พ่อแม่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนที่ดี และอย่าไปคิดแทนหรือกะเกณฑ์เด็ก เพราะปัจจุบันเด็กมหาวิทยาลัยไม่ใช่เด็กอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง

ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการ ทปอ. กล่าวว่ายินดีที่ได้รับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่ง ทปอ. จะนำไปเข้าที่ประชุมเพื่อดำเนินการแก้ไขในระยะยาวต่อไปสำหรับเด็กนักเรียนที่จะต้องเข้าสู่ระบบการสอบในปีถัดไป ทั้งนี้ยืนยันว่าที่นั่งที่เหลืออยู่ในรอบที่ 4 ที่จะเริ่มรับสมัครในวันที่ 12-16 มิถุนายนนี้ มีเพียงพอสำหรับนักเรียนที่เหลือแน่นอน

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ