เม็กซิโกค้นพบไดโนเสาร์หุ้มเกราะพันธุ์ใหม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทีมนักจัยของเม็กซิโกค้นพบไดโนเสาร์ที่มีผิวหนังคล้ายชุดเกราะพันธุ์ใหม่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ที่คาดว่าน่าจะอาศัยอยู่ในภูมิภาคดังกล่าวเมื่อ 85 ล้านปีที่แล้ว

นักบรรพชีวินวิทยา หรือผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ ประจำพิพิธภัณฑ์ทะเลทรายของเม็กซิโก แถลงการค้นพบซากฟอสซิลของไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า “อคันโทลิพัน กอนซาเลซิ” (Acantholipan gonzalezi) เป็นไดโนเสาร์กินพืชที่มีผิวด้านหลังเป็นเกราะหุ้ม ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายของยุคครีเตเชียส

โดยซากที่ค้นพบเป็นของไดโนเสาร์ที่ยังไม่โตเต็มที่ มีความยาว 3.5 เมตร หนักครึ่งตัน อาศัยอยู่ในรัฐโกอาวีลา ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เมื่อประมาณ 85 ล้านปีก่อน นับเป็นไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว  

ส่วนชื่อ “อคันโทลิพัน” มาจากคำว่า “อคันธอส” (acanthos) ในภาษากรีก ที่แปลว่ากระดูกสันหลัง ส่วนคำว่า “ลิพัน” เป็นชื่อของชนเผ่าอปาเช่กลุ่มหนึ่ง ที่เคยอาศัยอยู่ในภูมิภาคดังกล่าวเช่นกัน

“อคันโทลิพัน กอนซาเลซิ” มีความแตกต่างจากไดโนเสาร์ “โนโดซอรัส” และ “นิโอบราราซอรัส” ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกัน ตรงที่ “อคันโทลิพัน กอนซาเลซิ” มีกระดูกขาหน้าที่โค้งงอกว่า รวมทั้งมีเงี่ยงกระดูกสันหลังรูปกรวยที่เชิงกราน

จากนี้ จะมีการสร้างแบบจำลองของ “อคันโทลิพัน กอนซาเลซิ” ขึ้นมา เพื่อจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ทะเลทรายโกอาวีลา ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่เก็บรักษาซากไดโนเสาร์สำคัญๆ ของภูมิภาคละตินอเมริกา ซึ่งรวมทั้งไทรันนอซอรัสเร็กส์ด้วย

นอกจากไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่แล้ว ยังมีการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์กินเนื้อ “อัลแบโตซอรัส” และไดโนเสาร์บินได้ “เทอโรซอ” เจ้าหน้าที่จึงเชื่อว่าน่าจะมีฟอสซิลไดโนเสาร์ที่ยังไม่ถูกค้นพบในพื้นที่นี้อีก

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ