ส่อแววไร้บริษัทประมูลคลื่น 1800 MHz.-ยื่นซอง 15 มิ.ย.นี้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




15 มิ.ย.นี้ เป็นวันเดียวที่ กสทช. เปิดให้แสดงความจำนงค์เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz. ซึ่งขณะนี้ส่อแววว่าจะไม่มีบริษัทใดยื่นแสดงความจำนงค์เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.61 บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ได้แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า คณะผู้บริหารได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า บริษัทฯ ไม่ควรเข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1800 MHz. ที่จะจัดโดยคณะกรรมการการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติในเดือนส.ค.2561

ขณะที่ การประชุมคณะกรรมการบริหารของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.61 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารได้ให้ไปศึกษาข้อมูลการประมูลคลื่น 1800 MHz. เพิ่มเติม โดยบอร์ดจะมีมติในวันยื่นซองประมูลอีกครั้ง คือ 15 มิ.ย.61

ล่าสุด วันนี้ (14 มิ.ย.61) นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยว่า ในวันที่ 15 มิ.ย.61 ซึ่งเป็นวันยื่นแสดงความจำนงค์เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz. เพียงวันเดียวตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ขณะนี้ดีแทคยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะยื่นซองประมูลหรือไม่ โดยคณะกรรมการบริหารของดีแทคจะตัดสินใจในวันที่ 15 มิ.ย.นี้

นายนฤพนธ์ กล่าวว่า กฎหลักๆ ในการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz. ไม่เป็นไปตามที่ดีแทคเสนอที่ให้แบ่งเป็นล๊อตละ 5 MHz./ใบอนุญาต แต่ กสทช. แบ่งประมูลล๊อตละ 15 MHz. /ใบอนุญาต ขณะที่ราคาเริ่มต้นการประมูลก็สูงเกินไป เป็นราคาที่ไม่เหมาะสม และมีเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสม

สำหรับคลื่นความถี่ที่ 1800 MHz. ที่จะนำมาประมูลครั้งนี้มี 45 เมกะเฮิรซต์ แบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต  กำหนดราคาเริ่มต้นไว้ที่ 37,457 ล้านบาท เท่ากับราคาประมูลคลื่น 1800 MHz. ครั้งที่ผ่านมา โดยผู้ประมูลต้องวางหลักประกันและค่าปรับรวม 7,492 ล้านบาทใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี โดยใช้สูตร n-1 ต้องมีผู้ประมูลมากว่าจำนวนใบอนุญาตตั้งแต่ 1 รายขึ้นไป

ต่อข้อถามที่ว่า สัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz. ที่ดีแทคให้บริการอยู่จะหมดสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย.61 หากดีแทคไม่ประมูลจะมีผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภค นายนฤพนธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ดีแทคได้ยื่นเรื่องของเยียวยาผู้ใช้บริการที่ยังใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz. ตามสัมปทานอยู่ประมาณ 4-5 แสนราย ต่อ กสทช. แล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้บริการกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบคือ “ซิมดับ” หรือใช้งานไม่ได้เมื่อหมดอายุสัมปทาน

ส่วนอีกกลุ่มผู้ใช้งานที่จะได้รับผลกระทบคือ กลุ่มผู้ใช้บริการที่อยู่ในดีแทคไตรเน็ต (DTN) ซึ่งมีการโรมมิ่งโครงข่ายทั้งบนคลื่นความถี่ 850 MHz. และ 1800 MHz. เพราะถ้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีแต่โครงข่ายคลื่นความถี่ 850 MHz. และ 1800 MHz. จะไม่สามารถใช้งานได้

นายนฤพนธ์ ระบุว่า แนวทางรองรับการแก้ปัญหาที่ดำเนินงานแล้วเบื้องต้นนอกจากการยื่นเรื่องขอเยียวยาผู้ใช้บริการที่ยังใช้คลื่นความถี่ 850 MHz. และ 1800 MHz. แล้ว ยังมีการลงนามในสัญญาการเป็นพันธมิตรธุรกิจในการใช้คลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อรองรับการใช้งานเมื่อหมดสัมปทานคลื่น 1800 MHZ. และคลื่น 850 MHz. รวมทั้งร่วมมือกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ยื่นแผนความคุ้มครองลูกค้าในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต่อ กสทช. ปัจจุบัน ดีแทคมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถืออยู่ประมาณ 20 ล้านเลขหมาย

อย่างไรก็ตาม หากวันที่ 15 มิ.ย.61 ไม่มีบริษัทใดแสดงความจำนงค์เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz. สำนักงาน กสทช. จะออกหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ภายใน 1 ปีต่อไป

อ่านข่าว : “ดีแทค” แจ้งไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz.

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ